ก.ล.ต. เตรียมออกหลักเกณฑ์กำหนดลักษณะผู้บริหาร บจ.ที่ไม่เหมาะสม เบื้องต้นแบ่ง 3 กลุ่ม พร้อมกำหนดลักษณะ ขั้นตอนการพิจารณา และสิทธิในการชี้แจงและอุทธรณ์ หวังสกัดกั้นการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน และเอาเปรียบผู้ถือหุ้น เพราะอาจทำให้บริษัทโดยรวมขาดความน่าเชื่อถือในการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมออกหลักเกณฑ์กำหนดลักษณะที่ไม่เหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประชาชนเป็นผู้ถือหุ้น โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2552
หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้กำหนดลักษณะที่ไม่เหมาะสม โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามที่มาของลักษณะการขาดความน่าไว้วางใจและการใช้ดุลยพินิจ ได้แก่ (1) กลุ่มที่ไม่ต้องใช้ดุลยพินิจ (2) กลุ่มที่ต้องใช้ดุลยพินิจบางส่วน เนื่องจากเป็นการอ้างอิงผลการพิจารณาของหน่วยงานอื่น และ (3) กลุ่มที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี นอกจากนี้ยังได้กำหนดลักษณะ ขั้นตอนการพิจารณา และสิทธิในการชี้แจงและอุทธรณ์ รวมถึงการมีผลเมื่อบุคคลเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจเหล่านั้นด้วย
ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของกรรมการและผู้บริหารที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เสนอขายต่อประชาชนและบริษัทจดทะเบียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตรการในการดำเนินการกับผู้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และขณะเดียวกันเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีลักษณะไม่เหมาะสมดังกล่าวดำรงอยู่ในตำแหน่งที่สามารถแสวงหาประโยชน์ส่วนตน และเอาเปรียบผู้ถือหุ้น อันอาจทำให้บริษัทโดยรวมขาดความน่าเชื่อถือในการลงทุนได้