xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เตรียมกำหนดกรอบเงินเฟ้อใหม่ หลังยุติ 5 มาตรการ 6 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.เร่งหารือคลัง เตรียมกำหนดกรอบเงินเฟ้อปี 53 ก่อนเสนอ ครม.ในเดือน ธ.ค.นี้ โดยมีนโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือน เป็นตัวบ่งชี้ทิศทาง เผยหากครบกำหนดในเดือนหน้า แล้รัฐบาลไม่ต่ออายุ เงินเฟ้อก็จะเพิ่มในอัตราเร่ง พร้อมยืนยัน ยังไม่เห็นสัญญาณการเกิดเงินฝืด

นายอัมพร แสงมณี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 53 ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือนธันวาคม 2552 และสามารถประกาศใช้ได้ทันที

ทั้งนี้ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ พลิกฟื้นขึ้นมาจากติดลบมาตลอดทั้งปี กลายเป็นค่อนมาทางบวกหรือบวกได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552 แต่อาจจะบวกไปไม่ถึง 0.5% ต่ำกว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ 0.5-3.0%

แม้ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนตุลาคม 2552 ยังติดลบ 0.1% แต่เดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2552 น่าจะบวกขึ้น โดยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2552 และไตรมาส 3 ปี 2552 อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย พร้อมยืนยันว่า ธปท.ยังไม่เห็นสัญญาณของการเกิดเงินฝืด หรือเป็นปัญหาต่อการขยายตัวเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว

นายอัมพร กล่าวว่า สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อติดลบในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง กระทบกับอุปสงค์ในประเทศผ่านช่องทางการส่งออก ขณะที่ในประเทศนั้น ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน และโครงการเรียนฟรี 15 ปี ทำให้เงินเฟ้อลดลงจากระดับปกติ 1-1.8% ในช่วงไตรมาส 2-3 ซึ่งหากไม่มีมาตรการ หรือหักผลจากมาตรการออกไป อัตราเงินเฟ้อจะเป็นบวก 1.7% ในไตรมาส 2 ปี 2552 และบวก 0.6% ในไตรมาส 3 ปี 2552

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2553 คาดว่า จะเร่งตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ 5 มาตรการ 6 เดือน ที่จะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้แล้ว หากตัดมาตรการดังกล่าวออกไปอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นค่อนข้างแรง ประกอบราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้นด้วย โดย ธปท.ประเมินราคาน้ำมันในตลาดโลกในปีหน้าที่ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นายอัมพร กล่าวว่า หากใช้กรอบเงินเฟ้อเดิม 0.5-3.0% ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายช้าไปประมาณ 1 ไตรมาส จากเดิม ธปท.คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะเข้าเป้าในไตรมาส 1 ปี 2553 ก็อาจจะเลื่อนไปเป็นไตรมาส 2 ปี 2553

อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพที่ดี นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายคงไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่ทั้งหมดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจว่าฟื้นตัวยั่งยืนหรือไม่อย่างไร และนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพราะเศรษฐกิจไทยและกลุ่มประเทศ G3 ยังมีความเสี่ยงที่ภาพรวมอาจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น