xs
xsm
sm
md
lg

ยอดขายชอร์ตทะลุ4หมื่นล. ฟันกำไรช่วงหุ้นผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักลงทุน แห่ยืมหุ้นขายชอร์ต 10 เดือนยอดพุ่งทะลุ 4.17 หมื่นล้านบาท ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลปี 47 และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเท่าตัว ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ แจงเกิดจากตลาดหุ้นไทยผันผวนสูง นักลงทุนจึงหันยืมหุ้นขายชอร์ตจากทำกำไร -บล.เข้ามาทำธุรกรรมการยืมและให้ยืมหุ้นเพิ่มอีก 4 ราย ด้านบล.เคจีไอ มั่นใจธุรกรรมยืมหุ้นปีนี้เข้าเป้า 3 หมื่นล้านบาท แม้โค้งสุดท้ายปีนี้ยอดขายชอร์ตมีแนวโน้มลดลง

ตั้งแต่ต้นปี 2552 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวผันผวนค่อนข้างมาก ซึ่งสอดคล้องกับตลาดหุ้นต่างประเทศที่อิงกันภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อาทิ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศ ทำให้นักลงทุนอาศัยจังหวะที่ตลาดหุ้นผันผวนทำธุรกรรมยืมหุ้นมาขายชอร์ตเพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลการทำธุรกรรมขายชอร์ตของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่มกราคม – ตุลาคม 52 พบ มีมูลค่าการขายชอร์ตรวมทั้งสิ้น 41,708.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มูลค่า24,400ล้านบาท และสูงสุดนับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2547

โดยเดือนที่มีมูลค่าขายชอร์ตสูงสุด 5 อันดับ คือ เดือน มิ.ย. มูลค่า 6,845.34 ล้านบาท เดือน ก.ค. มูลค่า 6,254.88 ล้านบาท เดือน ส.ค. 6,163.80 ล้านบาท เดือน ต.ค. 5,243.15 ล้านบาท และเดือนพ.ค. 4,620.32 ล้านบาท ขณะที่หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าขายชอร์ตมากสุด 5 อันดับแรก คือ PTT มูลค่า 6,121.97 ล้านบาทPTTEP 4,937.82 ล้านบาท PTTAR 3,875.95 ล้านบาท BANPU 2,812.56 ล้านบาท และ SCB 2,235.41 ล้านบาท

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัยชัย รองผู้จัดการ สายงานการตลาดและงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า มูลค่าการขายชอร์ตในปีนี้มีการปรับเพิ่มขึ้นสูง เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไทยปีนี้มีความผันผวนสูง ซึ่งตั้งแต่ต้นปีดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น50-60% แต่ระหว่างทางได้ปรับตัวลดลงสลับกับการเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสให้นักลงทุนเข้ามายืมหุ้นนำไปขายชอร์ตเพื่อทำกำไรได้ทั้งในช่วงภาวะตลาดหุ้นขาขึ้นและขาลง

ขณะเดียวกัน ในปีนี้มีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จำนวน4 แห่ง คือบล.บัวหลวง บล.ธนชาต บล.ฟิลลิป บล.ทรีนีตี้ ได้เข้ามาใช้ระบบของริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD ในการประกอบธุรกรรมการยืมและให้ยืมหุ้น (SBL)และได้เริ่มทำธุรกรรมดังกล่าว ทำให้นักลงทุนสามารถที่จะเข้ามายืมหุ้นเพื่อที่จะนำไปขายชอร์ตได้สะดวกมากขึ้น

“นอกจากบล.ทั้ง 4 แห่งที่เริ่มเข้ามาทำธุรกรรม SBL ได้แล้ว ยังมีบล.ไอร่า ที่ได้เข้ามาใช้ระบบ TSD เช่นกัน แม้ปัจจุบันยังไม่มีการทำธุรกรรมดังกล่าว รวมทั้งขณะนี้มีบล.อีก 2 แห่งที่อยู่ระหว่างการขออนุญาตในการประกอบธุรกิจSBL จึงทำให้อนาคตแนวโน้มการทำธุรกรรมดังกล่าวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบตั้งแต่ในช่วงไตรมาส2/52มูลค่าการซื้อขายของตลาดรวมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้มูลค่าการขายชอร์ตมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย”

นางสาวนฤมล อาจอำนวยวิภาส บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า นับจากนี้ไปมูลค่าการยืมหุ้นเพื่อไปขายชอร์ตจะมีไม่มากนัก เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะจะได้รับผลดีทั้งปัจจัยภายนอกประเทศและในประเทศ จากการที่รัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลกยังคงเดินหน้าออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และประเทศไทยมีโครงการไทยเข้มแข็งที่จะเริ่มมีการลงทุนในปีหน้า ทำให้เกิดการลงทุนและจะตุ้นให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้นเช่นกัน แต่การที่ดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นอาจมีนักลงทุนบางส่วนหากได้กำไร5-10% ตามความคาดหวังอาจจะมีการยืมหุ้นเพื่อนำไปขายชอร์ตเพื่อทำกำไร แต่นักลงทุนควรระมัดระวังและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่จะได้ไม่รับผลเสียหาย

“ขณะนี้มีนักลงทุนบุคคลเข้ามายืมหุ้นจากบริษัทไปขายชอร์ตน้อยลง และนักลงทุนสถาบันนั้นมีการทำอาบิบาท ETF ซึ่งมีหุ้น50 ตัว SET50ฟิวเจอร์ส SETindex50 ออปชั่นแทน ซึ่งสินค้าดังกล่าวนั้นจะมีราคาที่ใกล้เคียงในวันที่สัญญาหมดอายุ แม้จะอยู่ต่างตลาด แต่หากอ้างอิงSET index50 ซึ่งหากราคาสินค้าดังกล่าวมีส่วนต่างกัน ก็จะทำให้มีการขายสินค้าที่มีราคาสูง ไปซื้อในอีกสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า จึงทำให้นักลงทุนสถาบันจะมีการเข้ามายืมหุ้นเพื่อไปขายชอร์ตบ้างประปราย"นางสาวนฤมล กล่าว

นางสาวนฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงที่ผ่านมามูลค่าขายชอร์ตเพิ่มขึ้ จากภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูง จึงเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะเข้ามายืมหุ้นเพื่อนำไปขายชอร์ต ส่งผลให้ยอดการยืมหุ้นปีนี้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทคาดการณ์ไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น