xs
xsm
sm
md
lg

ล้มกระดาน 3G ครม.สั่งตีความอำนาจ กทช.ออกไลเซนส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครม.เศรษฐกิจ สั่ง กทช.พิจารณาข้อ กม.เกี่ยวกับอำนาจให้ชัดเจน ก่อนเปิดประมูลใบอนุญาต 3G แนะหารือร่วมกฤษฎีกา พร้อมสั่งฝ่ายเลขานุการ แจ้งความเห็น และข้อสังเกตของคณะกรรมการ รมต.ห่วงตำแหน่งกรรมการที่ว่าง ทำแผนประมูลสะดุดยาว ด้านไอซีที ชงบทวิเคราะห์ความเสี่ยง คาด สภาเตรียมเลือก กรรมการใหม่ 23 พ.ย.นี้ “บิ๊กทีโอที” เดินหน้าพัฒนาระบบของตนเองปี 53 ไม่ต้องง้อ กทช.

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้หารือกันเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต 3G โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

พร้อมกันนั้น ครม.เศรษฐกิจ ยังมอบหมายให้ตัวแทนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไปพิจารณาความชัดเจนของข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจของ กทช.ในการออกใบอนุญาต 3G ซึ่งทางตัวแทน กทช.ระบุว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ดในช่วงบ่ายวันนี้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอแนะให้ กทช.หารือข้อกฎหมายกับทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากมีข้อขัดข้องรัฐบาลก็จะเชิญกฤษฎีกาเข้ามาชี้แจงต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจต่อไป

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการแจ้งความเห็น และข้อสังเกตของคณะกรรมการ ต่อคณะกรรมการ กทช.ในประเด็นเงื่อนไขที่ชัดเจนในกรณีการเข้าประมูลของผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และการดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานเดิม เพื่อให้ กทช.พิจารณาประกอบการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็น

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตในประเด็นข้อกฎหมายที่ กทช.อาจพิจารณาหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสถานะและอำนาจหน้าที่ของ กทช.และ กสทช.ตามรัฐธรมนูญ และประเด็นการประมูลคลื่นความถี่และการให้ใบอนุญาต 3G จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงาน พ.ศ.2535 หรือไม่

อีกทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รับไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชนกับ ทีโอที และ กสท ให้ถูกต้องตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงาน ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา และแนวทางการแปรสัญญาสัมปทานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของการลงทุนพัฒนาโครงข่าย 3G ของกระทรวงไอซีที ที่ประชุมเห็นสมควรให้ไอซีทีควรรอความชัดเจนทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย และเงื่อนไขของการเปิดประมูลของ กทช.ที่ชัดเจน ก่อนที่ทีโอทีจะดำเนินการลงทุน

ทั้งนี้ หากเงื่อนไขการประมูลใบอนุญาต 3G ของ กทช.มีผลกระทบต่อโครงการลงทุนพัฒนาโครงข่าย 3G ของ ทีโอที อย่างมีนัยสำคัญต่อผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ และหาก ทีโอที มีความจำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจที่แตกต่งจากเงื่อนไขเดิมที่ ครม.เคยให้ความเห็นไว้เมื่อปี 2551 ทีโอที ต้องนำเสนอ ครม.พิจารณา ก่อนมีการลงทุนต่อไป

**ICT วิเคราะห์ความเสี่ยง กทช.ให้ใบอนุญาต 3G

ด้าน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เสนอเรื่องผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบพร้อมแนวทางแก้ไขจากการออกใบอนุญาตบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยุคที่ 3 ให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า ในประเด็นภาพรวมของการประมูลคลื่นความถี่ของ กทช.ซึ่งในเชิงกฎหมายนั้น ในขณะนี้ กทช.สามารถออกใบอนุญาตได้ตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการคัดเลือกกรรมการ กทช.ทดแทนกรรมการที่หมดวาระและที่ลาออก ซึ่ง กทช.ควรพิจารณาหารือข้อกฎหมายกับคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายอาทร จันทวิมล ได้ลาออกไปเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 ส่วน กทช.ที่เหลืออีก 3 คนได้พ้นตำแหน่งด้วยการจับสลากออก ได้แก่ พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธาน กทช.นายเหรียญชัย เรียววิไลสุข และ นายเศรษฐพร โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 นี้ วุฒิสภาจะคัดเลือกกรรมการ กทช.ใหม่

นอกจากนี้ ในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรใหม่ กสทช.ที่จะต้องตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งขณะนี้กฎหมายจัดตั้งองค์กรดังกล่าว ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณานั้น กทช.จะสามารถออกใบอนุญาต 3G ได้ในขณะนี้หรือไม่ ซึ่งหากต้องรอให้จัดตั้ง กสทช.แล้วเสร็จอาจส่งผลให้การออกใบอนุญาต 3G ต้องล่าช้าออกไป

ส่วนประเด็นการกำหนดเงื่อนไขการประมูลคลื่นคามถี่ 3G ที่ชัดเจนนั้น ขณะนี้ กทช.อยู่ระหว่างการนำประเด็นข้อห่วงใยที่คณะกรรมการฯให้ไว้ไปทำการรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

คณะกรรมการ ยังเห็นว่า กทช.ควรพิจารณากำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนในเรื่องของการเข้าประมูลของผู้ประกอบการ ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ ทีโอที และ กสท เช่น หากผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานจะเข้าประมูลใบอนุญาตดังกล่าว คู่สัญญาภาคเอกชนต้องดำเนินการแปรสัญญาสัมปทานให้เรียบร้อยก่อนการเข้าประมูลใบอนุญาต ซึ่งจะทำให้ปัญหาการประกอบธุรกิจโทรคมนาคมในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทานไปสู่การออกใบอนุญาต และจะช่วยลดปัญหาการโอนฐานลูกค้า และปัญหาการใช้ทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากสัญญาสัมปทาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ขอให้ กทช.พิจารณารับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นมูลค่าใบอนุญาต 3G เมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาสัมปทานเดิมด้วย ทั้งนี้ กทช.ได้ให้ข้อมูลว่า เงื่อนไขการให้ใบอนุญาต 3G จะมีความชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือนธันวาคม 2552

**ทีโอที ลั่นเดินหน้า 3G เอง ปี 53 ไม่ง้อ กทช.

นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที คาดว่า ทีโอทีจะสามารถเปิดประมูลสร้างโครงข่ายให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ประมาณต้นปี 2553 โดยคาดว่าจะเริ่มต้นให้บริการได้อย่างเร็วกลางปี 2553 และอย่างช้าในช่วงปลายปี โดยขณะนี้ กำลังรอการอนุมัติลงทุนจาก ครม. ภายใต้วงเงินเฟสแรก 1.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีการนำเสนอ ครม.ในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า

นอกจากนี้ บริษัทยังจะมีการพัฒนาส่วนอื่นอีก 4 พันล้านบาท ตามวงเงินการลงทุนโครงการให้บริการ 3G ที่ ครม.มีมติให้ปรับลดกรอบวงเงินจาก 2.9 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 2 หมื่นล้านบาท

“หากจะต้องพัฒนา 3G แบบเต็มรูปแบบ และให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ก็คาดว่า จะต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่สำหรับการลงทุนเฟสแรกก็จะครอบคลุมพื้นที่หัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ”

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ยืนยันว่า สามารถพัฒนา 3G ได้โดยไม่จำเป็นต้องรอการตีความของ กทช.เพราะเรามีโครงข่ายและมีความถี่ที่สามารถให้บริการ 3G ได้อยู่แลว แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ต้องการรอการตีความทางกฎหมายที่ชัดเจนในหลักการเพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมาภายหลัง

“เราไม่จำเป็นต้องรอ กทช.ในการพัฒนา 3G เพราะเรามีมีคลื่นความถี่อยู่แล้ว สามารถพัฒนาได้เลย แต่ที่เราต้องรอคือการอนุมัติงบลงทุนของรัฐบาลที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทีโอที”

นายวรุธ กล่าวว่า ทีโอทีจะเริ่มทดลองการให้บริการ 3G อย่างเป็นทางการ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ซึ่งจะมีการติดตั้งสถานีฐาน 548 แห่ง รองรับผู้ใช้บริการได้ 5 แสนเลขหมาย โดยทีโอทีเป็นผู้ทำการตลาดเอง 1 แสนราย และภายใต้ Mobile Virtual Network Operator (MVNO) 4 แสนเลขหมาย โดยมีเป้าหมายว่าการขยายเฟสต่อไปจะรองรับลูกค้าได้ถึง 5 ล้านเลขหมายภายในไตรมาส 3 ปี 2553 ซึ่งจะครอบคลุมทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น