"ซีไอที กรุ๊ป" แบงก์ยักษ์สัญชาติสหรัฐฯ อายุ 101 ปี ยื่นล้มละลายแล้ว หลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยแบกหนี้สูงกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งประเมินกันว่า ธนาคารขนาดยักษ์เดินต่อไปไม่ไหว แม้ช่วงปีก่อนจะได้รับการผ่าตัดไปแล้ว
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังสั่นคลอนหลังกระแสข่าว ซีไอที กรุ๊ป อิงค์ (CIT Group Inc) สถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจมานานถึง 101 ปี ได้ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์สินจากศาลล้มละลายในเมืองแมนฮัทตัน ตามกฎหมายมาตรา 11 แห่งราชอาณาจักรสหรัฐอเมริกาแล้ว ในวันนี้
โดยซีไอทีมีภาระหนี้สิน 6.49 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีทรัพย์สิน 7.1 หมื่นล้านดอลล้านดอลลาร์ หลังจากบริษัทขาดสภาพคล่องอย่างหนักและไม่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาลสหรัฐฯ
นายเจฟฟรีย์ พีค ซีอีโอ ซีไอที ระบุว่า ที่ผ่านมา เราพยายามประคับประคองธุรกิจให้รอดพ้นจากภาวะล้มละลายด้วยการขายสินทรัพย์ พร้อมตั้งเป้าบรรเทาวิกฤตสภาพคล่องด้วยการขอระดมทุนจากผู้ถือหุ้น 2 พันล้านดอลลาร์ โดยซีไอทีเคยได้รับเงินช่วยเหลือจากกระทรวงคลัง 2.33 พันล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา
"การยื่นล้มละลายจะช่วยให้ซีไอทีสามารถจัดหาเงินทุนให้กับธุรกิจเล็กๆ และลูกค้าในตลาดขนาดกลางของเราต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง"
เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานว่า นายคาร์ล ไอคาห์น นักลงทุนระดับมหาเศรษฐี และผู้ถือหุ้นกู้ของซีไอที ได้สนับสนุนแผนการปรับโครงสร้างของซีไอทีและให้เงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์แก่ซีไอที หลังจากเคยวิพาษก์วิจารณ์แผนการปรับโครงสร้างหนี้ของซีไอทีเพื่อลดหนี้ระยะสั้นลง 5,700 ล้านดอลลาร์ โดยบอกว่า แผนการดังกล่าวไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัท ขณะที่โฆษกของซีไอที กล่าวว่า การที่ซีไอทีได้เงินกู้จากนายไอคาห์น 1,000 ล้านดอลลาร์ ช่วยให้บริษัทเดินหน้าให้บริการลูกค้าต่อไปได้
ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า การล้มละลายของซีไอทีอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะในภาคค้าปลีก เพราะซีไอทีปล่อยกู้แก่ธุรกิจ 2,000 รายที่จัดหาสินค้าให้ร้านค้า 300,000 แห่ง ทั้งนี้ ซีไอทีเผชิญปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักเพราะต้นทุนการกู้ยืมสูงกว่ารายได้จากการปล่อยกู้
เมื่อเดือนตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ซีไอทีต้องเผชิญกับมรสุมครั้งใหญ่ หลังการยื่นข้อเสนอขายธุรกิจปล่อยเช่าเครื่องบินและทางรถไฟ เริ่มมีปัญหา ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามสำคัญที่ทำให้ซีไอทีเข้าสู่ภาวะล้มะลาย
ขณะที่แผนการขายธุรกิจปล่อยเช่าเครื่องบินและทางรถไฟ ประสบความล้มเหลว เพราะเป็นตลาดเดียวกับเจนเนอรัล อิเล็กทริก โค (จีอี) และอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นเนล กรุ๊ป ซีไอทีไม่สามารถหาผู้ซื้อธุรกิจดังกล่าวได้