ผู้บริหาร ทรู หนุนกลุ่มเอกชน-สถาบันการเงินไทย ซื้อคืน "ชินคอร์ป" จากเทมาเส็กสิงคโปร์ เพราะยังกุมสัมปทานสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทย และเป็นเรื่องของความมั่นคงในภูมิภาค พร้อมจับตา กชท.ทุบโต๊ะใช้วิธีประมูล 3G แบบ e-Auction แข่งขันด้านราคาอย่างเดียว เพื่อให้กลุ่มทุนใหญ่ทุ่มเม็ดเงินแลกไลเซ่น เตรียมทางเลือก เพิ่มทุน-ขายทิ้งทรูมูฟ หากประมูล 3G ต้องใช้เงินมหาศาล
นายนพปฎล เดชอุดม กรรมการบริษัทย่อย และผู้อำนวยการ และผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวกลุ่มทุนของไทยเตรียมจับมือลงขันซื้อคืนหุ้นธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งเป็นของคนไทยจากต่างชาติ โดยระบุว่า ตนเองเห็นด้วยกับแนวทางที่กลุ่มเอกชนและสถาบันการเงินไทยจะร่วมมือกันเสนอซื้อหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN คืนจากกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ แต่ที่ผ่านมา กลุ่มตนเองยังไม่เคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมเจรจาในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่ผู้บริหาร ทรูฯ ออกมาระบุว่า สนใจจะเข้าซื้อหุ้นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC นั้น คงยังเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในช่วงจังหวะนี้ เพราะทั้งสองบริษัทมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นวิสาหกิจต่างชาติ ทั้งจากนอร์เวย์และสิงคโปร์ ซึ่งมีฐานเงินทุนขนาดใหญ่มาก เชื่อว่าคงจะไม่ตัดสินใจขายหุ้นทั้งสองบริษัทออกมาง่ายๆ ในช่วงนี้
ส่วนความคืบหน้าในการประมูลใบอนุญาต 3G บริษัทยังให้ความสนใจเป็นอันดับแรก แม้ว่าหากทางคณะกรรมการประกอบกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ยังยืนยันที่จะใช้วิธีประมูลแบบ e-Auction แข่งขันด้านราคาอย่างเดียว ก็จะทำให้เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับ บมจ.ทรูฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่สุดในตลาดขณะนี้
แต่หากว่า กทช.ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลว่าจะต้องเป็นผู้ประกอบการไทยเท่านั้น ก็เชื่อว่าจะมีต่างชาติโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เข้ามาประมูลจำนวนมาก ทั้งจากญี่ปุ่น จีน นอร์เวย์ สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เพราะมองว่าการเป็นเจ้าของโครงข่าย 3G ไม่เพียงเฉพาะการทำธุรกิจ แต่ส่งผลถึงความมั่นคง ซึ่งรัฐวิสาหกิจจากประเทศเหล่านี้ มีโอกาสที่จะเข้าประมูล ซึ่งเคยเกิดมาในหลายๆ ประเทศแล้ว
"ที่ผ่านมาการประมูล 3G ทั่วโลกใน 79 ประเทศ พบว่ามีเพียง 29 ประเทศเท่านั้น ที่ใช้ระบบการประมูล โดยมีจำนวนถึง 50 ประเทศใช้รูปแบบ Beauty Contest และการจัดสรรให้ผู้ประกอบการรายเดิมเลย ก็ยังยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้ประมูลแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียวเพราะจะทำให้ทุกค่ายหันมาให้ราคาไลเซ่นส์สูง แต่ความสามารถในการลงทุนโครงข่ายกลับลดน้อยลง และจะส่งผลให้ผู้บริโภคต้อเป็นผู้แบกรับภาระมากที่สุด"
นายนพปฏล กล่าวว่า เรื่องความพร้อมทางการเงินของกลุ่ม ทรูฯ เป็นเรื่องเล็ก เรามีแผนรองรับการระดมเงินทุนจำนวนมาก แต่หากต้องใช้เงินลงทุนเกินกว่าที่คิดไว้ ก็คงมีทางเลือก 2 แนวทาง คือ การเพิ่มทุน บมจ.ทรูฯ ซึ่งจากที่เคยพูดคุยกับพันธมิตรหลายรายก็ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน เนื่องจากเป็นเจ้าของบริการเคเบิลทีวี บรอดแบนด์ โทรศัพท์พื้นฐาน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะ "ทรูมูฟ" ที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีลูกค้าถึง 16 ล้านรายอยู่ในมือ
ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นทางเลือกสุดท้าย คือ การตัดขายธุรกิจ "ทรูมูฟ" ให้กับบริษัทอื่น เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทตั้งใจลงทุนและพยายามพัฒนาทรูมูฟ จนมีลูกค้าถึง 16 ล้านราย แต่ก็ต้องประสบปัญหาขาดทุนมาตลอด และทำให้ บมจ.ทรูฯ ไม่สามารถปันผลได้มาถึง 15-16 ปีแล้ว หากต้องยอมตัดขายทรูมูฟ น่าจะเกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้น
"เรายังไม่ได้ตัดสินใจในแนวทางใด จนกว่าจะเห็น IM ซึ่งเป็นร่างหลักเกณฑ์ประมูลใบอนุญาต 3G ของ กทช.ที่จะออกมา แล้วคงมาดูว่า ควรจะดำเนินการอย่างไรต่อ ซึ่งก็มี 2-3 แนวทางข้างต้น"
ปัจจุบัน ทรูฯ ถือหุ้นใหญ่โดย เครือซีพี 53.5% และกลุ่ม KFW ประมาณ 10% ที่เหลือเป็นนักลงทุนรายย่อย โดยมีภาระหนี้สินกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเดิมมีแผนจะออกหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ต่างประเทศประมาณ 2.0-2.5 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้คงต้องชะลอออกไปก่อน เนื่องจากความเชื่อมั่นในตลาดทุน เริ่มกลับมาทำให้ผลตอบแทน (Yield) ค่อนข้างสูง และทำให้การซื้อคืนหนี้ทำได้ลำบาก แต่บริษัทก็ยังมีความสนใจอยู่