โครงการรถเมล์ฉาวเอ็นจีวี 4 พันคัน ไม่จบง่ายๆ แน่ หลังสหภาพแรงงาน ขสมก.ได้กลิ่นสภาพัฒน์ เตรียมนำผลสรุปชง ครม.วันนี้ นำพนักงานกว่า 500 คน บุกประท้วงหน้าทำเนียบ เช้าวันนี้ ค้านข้อเสนอสภาพัฒน์ ให้สัมปทานเอกชนเดินรถเมล์ พร้อมแฉลูกเล่นการแปรรูป รสก.โดยอัตโนมัติ
มีรายงานข่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ วันนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะนำผลสรุปโครงการการจัดหารถโดยสารปรับอากาศเครื่องยนต์เอ็นจีวี (NGV) จำนวน 4,000 คัน ของกระทรวงคมนาคม เสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณา หลังมีการศึกษาข้อดีข้อเสียโครงการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับข้อเสนอของสภาพัฒน์ที่เตรียมจะเสนอที่ประชุม ครม.วันนี้ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาเกี่ยวกับการให้บริการรถเมล์ NGV ซึ่งจะใช้วิธีการเช่า หรือเช่าซื้อเพิ่มเติม แต่จะให้เอกชนสัมปทานทั้งหมดใน 155 เส้นทาง เพราะเห็นว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการให้ ขสมก.ดำเนินการเอง และทำให้ ขสมก.จำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรจากผู้ให้บริการเป็นผู้กำกับสัญญาสัมปทานรถโดยสารประจำทั้งระบบ
นอกจากนี้ ยังอาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำระบบตั๋วโดยสารอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการกับรถโดยสารที่มีอยู่ในปัจจุบันก่อน ควบคู่ไปกับการจัดทำโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของพนักงาน 7,009 คน เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านบุคลากร
โดยช่วงเช้าวันนี้ ก่อนการประชุม ครม.นายวีระพงษ์ วงแหวน รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พร้อมด้วยพนักงานกว่า 500 คน เดินทางมาชุมนุมประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว
รองประธานสหภาพแรงงาน ยอมรับว่า การประท้วงในวันนี้ อาจจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะมีรถเมล์ให้บริการน้อยลง แต่ยืนยันว่า ขสมก.จะไม่หยุดบริการ เพราะจะสลับสับเปลี่ยนพนักงานที่เข้าเวรในช่วงบ่ายมาร่วมคัดค้านแทน
นายวีระพงษ์ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า สหภาพ ขสมก.ไม่เห็นด้วยและคัดค้านกับข้อเสนอดังกล่าวของสภาพัฒน์ เพราะแนวทางดังกล่าวเท่ากับเป็นการแปรรูป ขสมก.และยุบเลิก ขสมก.โดยเด็ดขาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพนักงานและประชาชนได้
ดังนั้น สหภาพแรงงาน ขสมก.จึงเรียกร้องให้ ครม.ยุติการพิจารณาข้อเสนอของสภาพัฒน์ และขอให้ทำสัญญาข้อตกลงกับสหภาพแรงงาน ให้ชัดเจนถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา และการช่วยเหลือ ขสมก.ที่ไม่นำไปสู่การแปรรูปและยุบเลิก ขสมก.ในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมได้ปักหลักอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และจะรอฟังผลการพิจารณาของ ครม. ก่อนจะทบทวนแนวทางการเคลื่อนไหวกันอีกครั้ง