รมว.คลัง ห่วงอนาคตแบงก์กรุงไทย บทบาทไม่ชัดเจนเหมือนอีก 3 แบงก์รัฐวิสาหกิจ เป็นแบงก์พาณิชย์ก็แข่งขันไม่ได้ ส่วนงานในหน้าที่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องเป็นเครื่องมือทางการเงินให้รัฐบาล ก็มีปัญหาอุปสรรคเยอะ “กรณ์” เตรียมล้างภาพลักษณ์ใหม่ แย้มต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อกำหนดบทบาทใหม่ให้ชัดเจน
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตนเองได้หารือกับ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดบทบาทของธนาคารกรุงไทยที่กระทรวงการคลังเห็นว่ายังเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้การดำเนินการต่างๆ ยังทำได้ไม่ดี ทั้งในส่วนที่เป็นบทบาทที่ต้องแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ และบทบาทของรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“ผมคิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างกับธนาคารกรุงไทย เพราะตอนนี้ผมยังนึกไม่ออกว่า เมื่อคิดถึงธนาคารกรุงไทย ผมนึกถึงอะไรได้ ไม่เหมือนธนาคารเฉพาะกิจอื่น เช่น ออมสิน ที่มุ่งไปรากหญ้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เน้นดูแลเกษตรกร หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ช่วยให้คนมีบ้าน ดังนั้น ถึงเวลาที่ธนาคารกรุงไทยต้องตอบโจทย์ว่าจะทำอะไร”
นายกรณ์ กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจผู้บริหารธนาคารกรุงไทย เพราะภารกิจหลักของธนาคารไม่มีความชัดเจน ในส่วนที่เป็นบทบาทธนาคารพาณิชย์ก็ต้องเข้าไปแข่งขัน ขณะเดียวกัน ก็มีส่วนที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งคลังกำลังดูอยู่ว่ากรุงไทยควรมีบทบาทชัดเจนอย่างไร เพื่อให้ธนาคารเดินหน้าไปได้อย่างถูกต้อง
โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ ธ.กรุงไทย ปัจจุบันกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ถือหุ้นใหญ่อยู่ 55% ขณะที่กองทุนฟื้นฟูจะยุติบทบาทในปีหน้า โดยคลังจะเข้าไปรับโอนหุ้นดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น หากคลังจะกำหนดบทบาทให้กรุงไทย ก็จำเป็นต้องให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยรับทราบว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่คิดอย่างไร และจะเดินหน้าธนาคารต่อไปอย่างไร เพื่อให้เข้าใจตรงกัน