xs
xsm
sm
md
lg

มิกกี้จับมือไอ้แมงมุม “ดิสนีย์” ซื้อ “มาร์เวล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วอลสตรีทเจอร์นัล/เอเยนซีส์ - “วอลต์ ดิสนีย์” แถลงในวันจันทร์ (31 ส.ค.) ว่า ได้ตกลงทุ่มเงินประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ เข้าซื้อกิจการ “มาร์เวล เอนเทอร์เทนเมนต์ อิงค์” สำนักพิมพ์และสตูดิโอสร้างหนังเจ้าของตัวการ์ตูน อย่างเช่น สไปเดอร์-แมน, ไอออนแมน, เอ็กซ์-เมน หวังปลุกอุตสาหกรรมบันเทิงที่อยู่ในภาวะซบเซามายาวนาน โดยจะนำซูเปอร์ฮีโรขวัญใจเด็กชายเหล่านี้ เข้าไปอยู่ในสื่อและช่องทางหลากหลายที่ดิสนีย์มีอยู่ ทั้งภาพยนตร์, ดีวีดี, หนังสือการ์ตูน, รายการโทรทัศน์, สินค้า และของที่ระลึกที่มีลิขสิทธิ์ และสวนสนุก เป็นการเพิ่มเติมจากตัวการ์ตูนขวัญใจเด็กหญิงและเด็กทั่วไปที่บริษัทมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สโนว์ไวท์, ฮันนาห์ มอนแทนา, มิกกี้ เมาส์, โดนัลด์ดั๊ก

นับตั้งแต่ยอดขายดีวีดีตกลงฮวบฮาบ ฮอลลีวูดต้องตะเกียกตะกายหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่นจากของเล่น, วิดีโอเกม, เสื้อผ้า และเครื่องเล่นในสวนสนุก ขณะที่มาร์เวลนั้นมีกองทัพซูเปอร์ฮีโรในสังกัดถึง 5,000 ตัว จึงน่าจะมาเสริมแรงให้กับอาณาจักรธุรกิจบันเทิงและการตลาดของดิสนีย์ได้อย่างดี

ตามข้อตกลงที่ผ่านการเห็นชอบของบอร์ดบริษัททั้งสองฝ่ายแล้วคราวนี้ ผู้ถือหุ้นของมาร์เวล 1 หุ้น จะได้รับเงินสด 30 ดอลลาร์ บวกกับหุ้นของดิสนีย์อีก 0.745 หุ้น ทั้งนี้ เมื่อคำนวณโดยใช้ราคาปิดการซื้อขายในวันศุกร์ (28) เท่ากับให้ราคาหุ้นของมาร์เวล 50 ดอลลาร์ต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้นจากราคาปิดวันศุกร์ประมาณ 29 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าผู้บริหารของสตูดิโอคู่แข่งบางรายวิจารณ์ว่าราคาซื้อคราวนี้สูงไป แต่ ทอม สแต็กส์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินของดิสนีย์บอกว่า “กิจการมาร์เวลมีมูลค่าภายในบริษัท ดิสนีย์มากกว่ามูลค่าที่อยู่ภายนอกบริษัท”

นอกจากนั้น การเพิ่มซูเปอร์ฮีโรแนวผู้ชาย เช่น “ไอออน แมน” “ธอร์” และ “กัปตันอเมริกา” ก็จะช่วยขยายฐานลูกค้าของดิสนีย์ออกไป โดยจะช่วยดึงกลุ่มเด็กผู้ชายก่อนวัยรุ่นไปจนถึงวัยหนุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ดิสนีย์ยังเข้าไม่ถึงอย่างเต็มที่ แม้ว่าบริษัทจะมีโครงการอย่าง “ไฮ สกูล มิวสิเคิล” และ “เดอะ โจนาส บราเธอร์ส์” แล้วก็ตาม

การซื้อขายกิจการครั้งนี้นับเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของดิสนีย์ หลังจากที่ซื้อกิจการ “พิกซาร์ แอนิเมชัน สตูดิโอส์ อิงค์” ซึ่งเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ “ทอย สตอรี” ไปเมื่อปี 2006 เป็นมูลค่าถึง 7,400 ล้านดอลลาร์ในรูปของการแลกหุ้น ซึ่งครั้งนั้นก็มีเสียงวิจารณ์เช่นกันว่าเป็นการซื้อกิจการในราคาที่แพงเกินไป

ถึงแม้คราวนี้ดิสนีย์ซื้อมาร์เวลได้ในราคต่ำกว่าพิกซาร์ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า มาร์เวล นั้น มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับสตูดิโอเกือบทุกแห่ง ซึ่งทำให้ดิสนีย์อาจต้องรอให้ข้อตกลงผูกพันเดิมๆ เหล่านี้หมดอายุเสียก่อน จึงจะสามารถสานต่อโครงการของตนเองได้

ตัวอย่างของปัญหายุ่งยากดังกล่าว ก็คือ ก่อนหน้าที่มาร์เวลจะขายภาพยนตร์เรื่อง “ดิ อินเครดิเบิล ฮัลค์” และ “ไอออน แมน” นั้น บริษัทได้ขายลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนเหล่านี้ให้กับสตูดิโออื่นไปแล้ว

หรือในกรณี “สไปเดอร์แมน” แม้มาร์เวลยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ก็มีสัญญาระยะยาวอยู่กับโซนี คอร์ป ซึ่งอนุญาตให้โซนี พิคเจอร์ เอนเทอร์เมนเมนต์ สร้างภาพยนตร์โดยใช้ตัวการ์ตูนสไปเดอร์แมนได้ โดยค่ายโซนีจะจ่ายค่ารอยัลตีให้ทางมาร์เวลเป็นการตอบแทน อีกทั้งมาร์เวลยังทำข้อตกลงในลักษณะเดียวกับค่ายทเวนตี เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ของนิวส์ คอร์ป ซึ่งได้รับอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์โดยใช้ “เอ็กซ์-เมน” ของมาร์เวลเช่นกัน

ทั้งนี้ ภาพยนตร์สไปเดอร์แมนทั้งสามภาคแรกนั้นทำรายได้ให้โซนี่สูงถึงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ และบริษัทมีแผนการสร้างภาคต่ออีกสามภาคด้วยกัน

นอกจากนั้น มาร์เวลยังได้ขายลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนของบริษัทให้ใช้ในสวนสนุกของยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ ในฟลอริดาและญี่ปุ่นด้วย แต่รอเบิร์ต ไอเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดิสนีย์บอกว่าบริษัทจะใช้ตัวการ์ตูนของมาร์เวลในสวนสนุกดิสนีย์ในแคลิฟอร์เนีย ฝรั่งเศส ฮ่องกง และที่อื่น และดิสนีย์ยังหวังจะปลุกตัวการ์ตูนอื่นๆ ในสังกัดของมาร์เวลที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักให้ผงาดขึ้นมาทำรายได้ด้วย แม้ว่าจะเป็นกรณีที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ก็ตาม

แต่ข้อสำคัญ ก็คือ ดิสนีย์นั่นต้องการส่วนที่เป็น “เนื้อหา” จากมาร์เวลมาเสริมกลไกธุรกิจบันเทิงของตน เพราะมาร์เวลนั้นมีจุดแข็งในส่วนของตัวการ์ตูนต่างๆ แต่ขาดเงินทุนที่จะผลักดันในเชิงการตลาดได้ดีเท่ากับพวกสตูดิโอใหญ่ๆ ทั้งหลายในฮอลลีวูด

ด้วยเหตุนี้ไอเกอร์จึงมองว่าการที่ทั้งสองบริษัทมีลูกค้าคนละกลุ่ม เมื่อมาร่วมมือกันก็จะเป็นการเสริมธุรกิจให้ “สมบูรณ์” ขึ้น เขากล่าวอีกว่า “เรามองเห็นโอกาสในการดึงลูกค้ากลุ่มเด็กผู้ชายและเด็กโตเพิ่มขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมาเราขาดตกบกพร่องในส่วนนี้ไป”

บุคคลในวงการคาดหมายว่า บริษัททั้งสองคงต้องใช้เวลาอีกราว 3 เดือนกว่าที่จะรวมกิจการกันได้จริงๆ ทั้งนี้ ไอเก เพิร์ลมัตเตอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมาร์เวลนั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นนักต่อรองตัวยง
กำลังโหลดความคิดเห็น