ประชุมรัฐมนตรี ศก.อาเซียน ครั้งที่ 41 เริ่มแล้ว วันนี้ "กอร์ปศักดิ์" เดินทางเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ เตรียมขยายผลเขตการค้าเสรี และการลงทุน มุ่งลดอุปสรรคกีดกันการค้า เผย ไทยเตรียมวางกรอบรองรับการเปิดเสรีสินค้าเกษตรในกลุ่มอาเซียน มั่นใจ ศก.ไม่แย่ไปกว่านี้ มั่นใจอีก 2 ปี ทุกอย่างจะเรียบร้อย
มีรายงานข่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers Meeting) หรือ AEM ครั้งที่ 41 เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว วันนี้ โดยใช้สถานที่จัดประชุม ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ โดยนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีของไทย เป็นประธาน และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ
หลังจากนั้น จะมีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและคณะรัฐมนตรี เขตการลงทุนอาเซียน ก่อนะมีการหารือทวิภาคี ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเวียดนามและประเทศไทยกับกัมพูชา ร่วมถึง การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 41 อย่างเป็นทางการ โดยมี นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย เป็นประธานการประชุม
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวก่อนเป็นประธานเปิดการประชุมฯ โดยระบุว่า กรอบอาเซียนในอีก 6 ปีข้างหน้าการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเกิดขึ้นในปี 2558 ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อว่าหากมีการจัดประชุมบ่อยขึ้นเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ น่าจะทำให้การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมาย
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปีนี้ไทยในฐานะเจ้าภาพจะพยายามทำทุกวิถีทางให้มีการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเต็มรูปแบบ หลังจากนี้แต่ละประเทศจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการที่กำหนดรูปแบบและวิธีการ เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และในเดือนตุลาคม 2552 นี้ ตนจะเป็นประธานการประชุม เพื่อดูแลแผนปฏิบัติการของแต่ละประเทศที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ว่าสามารถบรรลุเป้าหมาย หรือมีปัญหาอะไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม จากช่วงวิกฤติโลกอาเซียนมองว่าไม่ใช่ประเด็นใหญ่ และมองว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับสู่ภาวะปกติในอีก 2 ปีข้างหน้า และเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยไม่เลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว จึงเชื่อว่าภายใน 2 ปีทุกอย่างจะเรียบร้อย
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตามกรอบอาเซียนที่จะปรับลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในกลุ่มสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าว จะเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2553 ในส่วนของข้าวที่จะมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในไทย รัฐบาลมีการเตรียมความพร้อม โดยใช้มาตรฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบก็น่าสามารถจะดำเนินการได้ ขณะเดียวกันการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหรือพืชผลทางการเกษตรอื่น
"ขณะนี้ รัฐบาลกำลังเดินหน้าขึ้นทะเบียนให้เกษตรกรเพื่อยกระดับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีภาคการเกษตรภายใต้กรอบอาเซียน ซึ่งภาคเอกชนและเกษตรกรจะต้องมีการปรับตัว ขณะที่รัฐบาลมีการดูแลและปรับเปลี่ยนวิธีการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรเป็นประกันราคา ซึ่งจะเป็นการยกระดับในเรื่องรายได้ให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันจะลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ"
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยเมื่อมีการเปิดเสรีในกลุ่มอาเซียนและอาจทำให้ข้าวไทยประสบปัญหาปลอมปนไม่ได้มาตรฐาน โดยยืนยันว่า รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการค้าต่าประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดวิธีปฏิบัติการนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเร็วๆ นี้ไทยจะประกาศเกณฑ์การนำเข้าข้าว และเชื่อว่าจะสามารถป้องกันปัญหาดังกล่าวได้
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 41 นี้ ถือเป็นความสำเร็จของประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพหลังจาก อาเซียน 10 ประเทศ ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างกันและได้ร่วมกันลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนอินเดีย ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศอินเดียเป็นอย่างมากทำให้ ตลาดอาเซียนอินเดีย เป็นตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม หลังจากอาเซียนได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2510 อาเซียนได้มีการดำเนินงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการจัดทำเขตการค้าเสรี การเจรจาเพื่อเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุนในภูมิภาคทั้งนี้ในปี 2558 ผู้นำอาเซียนได้มุ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
ในส่วนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งเป็นเสาหลักที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนภายในปี 2558 เพื่อนำไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน และจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนเงินลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี รวมทั้งผู้บริโภคสามารถเลือกสรรสินค้า/บริการได้อย่างหลากหมายภายในภูมิภาคและสามารถเดินทางในอาเซียนได้อย่างสะดวกและเสรีมากยิ่งขึ้น
สำหรับประเด็นสำคัญที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะต้องหารือกัน คือ การกำหนดวิธีการติดตามประเมินผลโดยใช้ AEC Scorecard ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำหรับประเมินผลและติดตามปัญหาอุปสรรคหรือความล่าช้าที่อาจมีผลต่อการดำเนินการสู่การเป็น AEC การติดตามการดำเนินการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน การร่วมกันพิจารณาแนวทางการขยายเขตการค้าเสรี รวมไปถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนตะวันออก และการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า
นายวัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าฯ กล่าวว่า แม้มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศต่างๆ ยังไม่รุนแรง แต่ทุกประเทศก็ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้นในช่วงนี้ เพราะหากปล่อยไว้นานจะเกิดผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เสียเปรียบจะเป็นประเทศขนาดเล็ก แม้แต่ไทยขณะนี้ยังถูกจับตามองเรื่องการช่วยเหลือผู้ส่งออกด้วยการตั้งกองทุนหรือการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพราะแนวทางดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือจากภาครัฐ และคาดว่าจะมีการนำไปหารือในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนด้วย