กรุงเทพโพล เผยผลสำรวจคนกรุง 79.9% เคยซื้อ-เช่าสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยส่วนใหญ่ 92.7% ทราบดีว่าเป็นของเถื่อน โดยเหตุผลในการซื้อ เพราะหาง่าย-ราคาถูก
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง การละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าในสายตาคนกรุงเทพมหานคร โดยได้เก็บข้อมูลจากประชาชนชาวกรุงเทพฯ อายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,104 คน เป็นชายร้อยละ 48.8 เพศหญิงร้อยละ 51.2 เมื่อวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2552 สรุปว่า พฤติกรรมการซื้อหรือเช่าสินค้าลอกเลียนแบบหรือละเมิดลิขสิทธิ์ พบว่า ประชาชนร้อยละ 79.9 เคยซื้อหรือเช่า ร้อยละ 20.1 ไม่เคยซื้อหรือเช่า
โดยสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่ที่ประชาชนซื้อหรือเช่า ได้แก่ ซีดี ดีวีดีเพลง และภาพยนตร์ ร้อยละ 40.4 กระเป๋า รองเท้า แว่นตา นาฬิกา ร้อยละ 20.7 ประชาชนทราบว่าเป็นสินค้าลอกเลียนแบบหรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ขณะที่ตัดสินใจซื้อหรือเช่า ร้อยละ 92.7 ไม่ทราบร้อยละ 7.3 ส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อหรือเช่าเพราะราคาถูกร้อยะ 48.6 หาซื้อง่ายร้อยละ 26.4
ส่วนความรู้สึกผิดที่ซื้อหรือเช่าสินค้าดังกล่าว พบว่า ไม่รู้สึกผิดร้อยละ 52.0 รู้สึกผิดร้อยละ 48.0 ความเห็นต่อสาเหตุที่ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องสินค้าละเมิดลิขสิ์และเครื่องหมายการค้าพบว่า สินค้าลิขสิทธิ์มีราคาแพงเกินไปร้อยละ 40.1 เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลย หรือผลประโยชน์เกี่ยวข้องร้อยละ 19.6 เห็นด้วยให้แก้ไขปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ร้อยละ 95.4 ไม่จำเป็น ร้อยละ 4.6
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะที่สุด คือ ลดราคาสินค้าลิขสิทธิ์ลงร้อยละ 38.9 เพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงยิ่งขึ้นร้อยละ 18.9 และประชาชนเห็นด้วยกับการออกกฎหมายเพื่อเอาผิดผู้ซื้อและผู้เช่าสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทุกประเภทร้อยละ 48.1 ไม่เห็นด้วย 38.2