xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดี! รถไฟฟ้าสายสีแดง ทุ่ม 450 ลบ.เพิ่มสถานีบางกรวยอีก 1 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปลัดคมนาคม แจ้งข่าวดีรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน เพิ่มจุดจอดรับ “บางกรวย” อีกหนึ่งสถานี รองรับปริมาณคน กฟผ.เตรียมชงเข้า ครม.เร็วๆ นี้ คาดใช้งบเพิ่ม 450 ล้านบาท ยันงบสร้างสถานีใหม่ ไม่เกินกรอบเดิม 1.3 หมื่นล้านบาท คาดจุดจอดอยู่ระหว่างสถานีบางซ่อน และ บางบำหรุ บริเวณเชิงสะพานพระราม 7 ฝั่งธนบุรี ใกล้ทางแยกเข้าถนนบางกรวย-ไทรน้อย คาดใช้เวลาอีก 5 เดือน

นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาเพิ่มสถานีรถไฟในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีมติเห็นด้วยตามข้อเรียกร้องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเทศบาลเมืองบางกรวย ที่ยื่นเรื่องมายัง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข. ) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ขอให้ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าเพิ่มที่บางกรวย ระหว่างสถานีบางซ่อนและบางบำหรุ บริเวณเชิงสะพานพระราม 7 ฝั่งธนบุรี ใกล้ทางแยกเข้าถนนบางกรวย-ไทรน้อย รวมถึงบริเวณทางเข้า กฟผ.เพื่อรองรับพนักงาน กฟผ.ชุมชนในพื้นที่ และประชาชนที่มาติดต่อราชการประมาณ 1 แสนคนต่อวัน

สำหรับสาเหตุที่ไม่สร้างสถานีบางกรวยก่อนหน้านี้ เนื่องจากเห็นว่ารถไฟสายนี้เป็นรถไฟชานเมืองที่ขนคนจากชานเมืองเข้าในเมือง และรับคนจากในเมืองออกชานเมือง จึงไม่จำเป็นต้องสร้างสถานีในระยะใกล้กัน

นายสุรชัย กล่าวว่า กรอบวงเงินค่าก่อสร้างที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 13,133 ล้านบาท ยังเหลือ 4,000 กว่าล้านบาท หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่าจ้างกิจการร่วมค้ายูนิค-ชุนวู ก่อสร้างไปแล้ว 8,748 ล้านบาท ซึ่งจะต้องขออนุมัติจาก ครม.ก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินก่อสร้างประมาณ 450 ล้านบาท

สำหรับกระบวนการต่อไป สนข.จะให้ที่ปรึกษาทำข้อมูลทางวิชาการ รายละเอียด ออกแบบสถานี และค่าก่อสร้าง เพื่อเสนอให้ครม.อนุมัติในหลักการ คาดว่า จะเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้ และหาก ครม.อนุมัติเรียบร้อย ก็จะออกแบบรายละเอียด พร้อมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การก่อสร้างสถานีเพิ่มจะใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด ให้เสร็จภายใน 5 เดือน เพื่อให้ทันกับกรอบเวลาก่อสร้างเดิม เนื่องจากโครงการนี้ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 โดยจะให้กิจการร่วมค้ายูนิค-ชุนวู เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างต่อ ซึ่งถือเป็นการสั่งงานเพิ่มเข้าไปในสัญญาก่อสร้างเดิม เนื่องจากเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่รู้แบบก่อสร้างดีอยู่แล้ว และเพื่อความรวดเร็วในการก่อสร้างให้เสร็จทันเวลา
กำลังโหลดความคิดเห็น