xs
xsm
sm
md
lg

“ปกรณ์” อ้ำอึ้งข่าวโยกเงินพัฒนาตลาดทุน พบชนวนเบื้องหลังสุดยุ่งเหยิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.ตลาดหุ้น แบ่งรับแบ่งสู้ คลังเตรียมโยกเงินกองทุนพัฒนาตลาดทุน 1 หมื่นล้าน หลังแปรรูป ตลท. “ภัทรียา-ธีระชัย” ตั้งป้อมขวาง อัดใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ คนวงการแฉที่มาเงินลงขันโบรกเกอร์ ชนวนต้าน หากย้ายเงินออกไป เพราะสามารถนำไปใช้เกื้อหนุนภาคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนได้ ชี้เบื้องลึก ผู้ที่ดูแลในส่วนนี้ ได้ถูกวางตัวไว้แล้ว พร้อมโยงสายสัมพันธ์ “ห้อย-ปชป.-แม้ว” พันกันยุ่ง

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวสะพัดตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะนำเงิน 10,000 ล้านบาท ที่เป็นวงเงินในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาตลาดทุนเข้ากระทรวงการคลัง เรื่องดังกล่าว ตนเองมองว่า ยังเร็วไปที่จะพูด เนื่องจากกองทุนดังกล่าวฯ เพิ่งเริ่มต้น ยังต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอน และต้องเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน

นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขึ้นมาพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม และให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการจัดตั้ง เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ แข็งแกร่ง พร้อมมองว่า เรื่องนี้ ควรจะต้องใช้เวลาพิจารณาอีกระยะหนึ่ง

ด้านนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ตนเองยังไม่เคยรับทราบนโยบายเรื่องนี้ เพราะในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไม่ได้มีการพูดถึงวงเงินในการจัดตั้งกองทุน เพียงแต่มอบหมายให้ ตลท.และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปคิดรูปแบบการจัดตั้งกองทุน ซึ่งมีการพูดถึงรูปแบบองค์กรมหาชน เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกองทุนพัฒนาตลาดทุนมีความสำคัญ พร้อมเชื่อว่า ยังมีความจำเป็นในการพัฒนาให้ความรู้กับระบบและนักลงทุน

“ ปัจจุบันตลาดมีเงินที่ใช้สำหรับการจัดตั้งกองทุนประมาณ 8 พันล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะใช้เพื่อการพัฒนาตลาดทุนเท่านั้น จะไม่มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยเด็ดขาด ซึ่งหน่วยงานพัฒนานี้จะแยกออกมาต่างหาก และมีแนวคิดว่าจะให้กระทรวงการคลังเข้ามาร่วมเป็นกรรมการกองทุน เพื่อดูแลผลประโยชน์ของตลาดโดยรวม โดยหลังจากนี้คงต้องขอหารือกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังก่อน เพื่อรับทราบนโยบาย”

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า เรื่องเงินกองทุนของ ตลท.ขึ้นกับนโยบายรัฐบาล หากโยกเงินเข้าคลังทั้งหมด กระทรวงการคลังจะได้ประโยชน์ทันที แต่หากให้ ตลท.จัดตั้งกองทุน ก็จะเกิดการพัฒนาตลาดทุน เกิดกิจกรรมการทางเศรษฐกิจที่มากกว่า

ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย กล่าวถึงแผนการแปรรูป ตลท. โดยระบุว่า รมว.คลัง ได้ให้นโยบายไปว่าเงินกองทุนที่มีกว่า 1 หมื่นล้านบาท หลังการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แล้ว จะต้องส่งเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน โดยไม่ให้จัดตั้งเป็นกองทุนพัฒนาตลาดทุนตามที่ตลาดเสนอมา เพราะมองว่าไม่ได้เป็นการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพ

รมว.คลัง ระบุว่า การแปรรูปตลาดหุ้นก็เพื่อให้มีต้นทุนการดำเนินการลดลง ดังนั้น ในส่วนของบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนก็ควรได้ประโยชน์ โดยมีการคิดค่าธรรมเนียมการให้บริการลดลงด้วย นอกจากนี้ หลังแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ใหม่จะต้องเป็นองค์กรมหาชน ได้รับการตรวจสอบจากรัฐสภาอีกด้วย

ด้านแหล่งข่าวจากแวดวงตลาดทุนกล่าวว่า สิ่งที่หน่วยงานด้านตลาดทุนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่ทางตลาดหลักทรัพย์กับทาง ก.ล.ต.เห็นตรงกันมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเรื่องความพยายามที่จะแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ด้วยการอ้างเหตุผลถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งเรื่องนี้เคยถูกต่อต้านมาแล้ว

ทั้งนี้ เหตุผลที่สำคัญ เนื่องจากจะมีเงินของบรรดาโบรกเกอร์ที่จ่ายให้กับตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นเงินหมื่นกว่าล้านบาท เมื่อแปรรูปตลาดเงินก้อนนี้ก็จะต้องย้ายออกไปอยู่ในกองทุนพัฒนาตลาดทุน ตรงนี้สามารถนำไปใช้เกื้อหนุนภาคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนได้ อีกทั้งผู้ที่ดูแลในส่วนนี้ได้มีการวางตัวไว้แล้ว ซึ่งก็เป็นคนของภาคการเมืองอีกเช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อมีการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ แต่ว่า คณะกรรมการตลาดก็ยังเป็นชุดเดิม บริหารงานก็แบบเดิมๆ คนในวงการนี้ก็ตั้งคำถามกันว่า ถ้าอย่างนั้นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ทำไมไม่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เพิ่มขึ้นภายใต้โครงสร้างปัจจุบันนี้

ดังนั้น การแปรรูปหรือไม่แปรรูป ตลท.ในสถานการณ์เช่นนี้ ก็มีค่าเท่ากัน เพราะโครงสร้างใหญ่ของตลาดหุ้นไทย ยังพึ่งพานักลงทุนต่างประเทศเป็นหลักราว 30-40% ตลาดหุ้นไทยขึ้นได้ก็เพราะนักลงทุนต่างประเทศ ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หายไป 50% ก็เพราะนักลงทุนต่างประเทศ ตรงนี้บอร์ดของตลาดหลักทรัพย์ยังแก้ปัญหาความตกต่ำของตลาดทุนที่ซื้อขายกันวันละ 3-4 พันล้านบาทยังไม่ได้เลย

“เรื่องนี้คุณกรณ์ก็รู้ เพราะเป็นโบรกเกอร์มาก่อนว่าพวกเขากำลังจะทำอะไรกัน ความคิดที่จะรื้อบอร์ด ก.ล.ต.นั้นเป็นเพียงแค่เป้าหมายแรก เพราะเป้าหมายตามมานั่นคือบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ แต่ทำไม่ได้เพราะมีคนของคุณเนวิน ชิดชอบ นั่งอยู่ในทีมเหล่านี้ จึงทำให้ต้องล้มเลิกความคิด หากไม่มีกลุ่มเพื่อนเนวินแล้ว รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ตั้งไม่ได้”

ดังนั้น ความคิดที่จะเปิดเสรีตลาดทุนทั้งใบอนุญาตบริษัทหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมซื้อขายนั้น มีความพยายามกันมาตั้งนานแล้ว เหตุผลหลักคือตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือตรวจสอบในเรื่องของการแอบลดค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ได้ เพราะโบรกเกอร์บางแห่งมีฐานการเมืองหนุนหลังอยู่ ส่วนใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์นั้นโบรกเกอร์เกือบทุกแห่งต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาใหม่แล้วไม่ต้องเสียนั้นจะเป็นธรรมกับโบรกเกอร์รายเดิมอย่างไร

สำหรับนโยบายเรื่องสินค้าใหม่นั้น ถือเป็นความคิดที่ดี แต่ถ้าประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันตอนนี้คงทำได้ไม่ง่าย โดยเฉพาะเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเห็นได้จากกรณีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) ที่ยังไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ อีกทั้งกระแสการต่อต้านในเรื่องนี้ก็แรง ดังนั้นเรื่องแปรรูปต้องตัดทิ้ง เมื่อไม่มีสินค้าจากรัฐวิสาหกิจเข้ามาย่อมปลุกตลาดหุ้นให้กลับมาคึกคักเป็นเรื่องที่ยาก

ส่วนกองทุนสาธารณูปโภคหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้น เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมก็เคยออกกองทุนสาธารณูปโภคออกมาบ้าง ซึ่งให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับงานสาธารณูปโภค ส่วนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมาแม้จะได้ผลตอบแทนดี แต่จะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง เพราะจะต้องลงทุนตามที่ผู้บริหารกองทุนกำหนดจึงจะได้ผลตอบแทน ซึ่งใกล้เคียงกับความเป็นกองทุนปิด ดังนั้นคงต้องรอให้มีรายละเอียดจากกระทรวงการคลังออกมาก่อนว่าจะเป็นอย่างไร และจะสร้างความคึกคักได้แค่ไหน

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นปัญหาต่อการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาจากพรรคคู่แข่งของคนในองค์กรตลาดทุน และพร้อมจะนิ่งหรือยืดระยะเวลาออกไป รวมถึงอาจป้อนข้อมูลบางด้านให้กับเจ้านายของพวกเขาว่า ขุนคลังคนนี้เตรียมจะทำอะไรที่กระทำกับฐานธุรกิจของเจ้านายเก่าบ้าง โดยเฉพาะการตรวจสอบคดีที่ยังค้างอยู่ อาทิ กรณีของ เอสซีแอสเซท ของตระกูลชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น