xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละแผนใหม่ สนข.จิ้ม 155 เส้นทางรถเมล์ รถร่วมฯผวาสูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนข.แจงแผนปรับเส้นทางรถเมล์เหลือ 155 เส้นทาง หวังลดปัญหาเส้นทางทับซ้อน ปัญหาจราจร และการแย่งผู้โดยสาร พร้อมคุมกำเนิดรถเหลือ 6-7 พันคัน ขณะที่กลุ่มรถร่วม ขสมก.ห่วงเส้นทางใหม่มีเบื้องหลังเอื้อโครงการรถเมล์เอ็นจีวีฉาว พร้อมแฉเกมทุนใหม่ บีบต้นทุนสูง หวังให้ขาดทุน และล้มเลิกกิจการหนีไป

นายประณต สุริยะ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยระบุว่า ตามโครงการดังกล่าว สนข.จะมีการจัดเส้นทางรถโดยสารประจำทางใหม่ ให้เหลือ 155 เส้นทาง จากเดิม 214 เส้นทาง

นายประณต กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทางเลยนับแต่มีการจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในปี 2518 ทำให้มีเส้นทางทับซ้อนกันจำนวนมาก เกิดปัญหาจราจร การแย่งผู้โดยสาร การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเส้นทางใหม่ ซึ่ง สนข.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตลอด โดยการปรับปรุงเส้นทางครั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้รถโดยสารในเส้นทางดังกล่าว 6,000-7,000 คัน

นางสาวมาลินี พูลศิริกุล เลขาธิการสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน (รถร่วมฯ ขสมก.) กล่าวว่า เอกชนเห็นว่าที่ผ่านมา สนข.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงเส้นทางมาโดยตลอด แต่ก็มีความเป็นห่วงว่า 155 เส้นทางที่กำหนดขึ้นมาใหม่ เอกชนจะไม่มีส่วนร่วมในการเดินรถ เพราะคาดว่าเส้นทางดังกล่าวจะรองรับเพียงโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีเท่านั้น และจะทำให้เอกชนขาดทุนและหายไปจากระบบทั้งหมด

ดังนั้น กลุ่มรถร่วมฯ ขสมก.จึงขอวิงวอนว่าภาครัฐควรมีความชัดเจนว่าเอกชนจะได้มีส่วนร่วมในการเดินรถในเส้นทางเดิมที่เคยเดินอยู่ เพราะเอกชนทุกแห่งได้กู้เงินจากสถาบันการเงินมาลงทุนทั้งปรับปรุงรถโดยสาร ซื้อรถใหม่ตามนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่มีความแตกต่างกันไป

นางสาวมาลินี กล่าวอีกว่า ในวันที่ 31 สิงหาคม 2552 นี้ รถร่วมบริการต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับ ขสมก.เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยจ่ายคันละ 35 บาทต่อวัน เป็นคันละ 120 บาทต่อวัน และจะมากกว่านี้หากเป็นรถโดยสารปรับอากาศ ซึ่งจะทำให้เอกชนมีภาระมากขึ้น รวมถึงการมีรถเมล์ฟรี 13 เดือน ทำให้ภาคเอกชนขาดรายได้ เพราะประชาชนหันไปใช้บริการรถเมล์ฟรี และต้นทุนการเดินรถก็สูง

ก่อนหน้านี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยศึกษาว่า ต้นทุนการเดินรถร้อนควรอยู่ที่ 14 บาท แม้ว่าจะเป็นรถเอ็นจีวี แต่ทางคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ก็กำหนดให้เก็บค่าโดยสารที่ 8 บาทเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น