นักธุกิจอสังหาฯ พอใจผลงานรัฐบาล 6 เดือน ชี้ มาตรการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดนใจมากที่สุด พร้อมขอความชัดเจน-นโยบายต่อเนื่อง ทั้งการลำดับโครงการลงทุน ระยะเวลาการก่อสร้าง โดยเฉพาะรถไฟฟ้า เริ่มก่อสร้างเส้นทางใดก่อน ส่วนมาตรการนำเงินต้น-ดบ.3 แสน หักลดหย่อนภาษี และการขยายเวลาการลดค่าธรรมเนียม-ภาษีจดจำนอง ถึงเดือน มี.ค.53 ทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นชัดเจน ด้านศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ธอส.เผย 5 เดือนแรกปี 52 ที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ใน กทม.-ปริมณฑล ยอดจดทะเบียนเพิ่ม 5% บ้านเดี่ยวนำโด่ง 12,350 หน่วยรองลงมาเป็นคอนโดฯ 11,300 หน่วย รั้งท้ายด้วยบ้านแฝด 550 หน่วย ชี้เดือน พ.ค.ยอดโอนพุ่งสูงสุด คอนโดฯ แชมป์โอนกว่า 5 พันหน่วย ยอดเท่ากับ 4 เดือนรวมกัน ส่วนบ้านบีโอไอคาดเห็นผลปีหน้า หวั่นการเมือง ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ กระทบความเชื่อมั่นอีกครั้ง
นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึงผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือน โดยระบุว่า ภาคธุรกิจอสังหาฯ มีความพอใจผลงานแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศ โดยเฉพาะการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นนโยบายที่มีความจำเป็น แต่อยากให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับการลำดับโครงการลงทุน ระยะเวลาการก่อสร้าง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าว่า จะก่อสร้างเส้นทางใดก่อน
ทั้งนี้ หากรัฐบาลดำเนินการได้ตามเป้าหมายจะกระตุ้นภาคแรงงานและวัสดุก่อสร้างให้คึกคักมากขึ้น และอยากเห็นความต่อเนื่องนโยบายรัฐบาล เพราะกว่าที่ผลของมาตรการจะเกิดต่อเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลา 1-2 ปี รวมทั้งอยากให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ
“สิ่งที่ต้องจับตามอง คือ ราคาน้ำมัน แต่เชื่อว่า คงปรับขึ้นไม่มาก และไม่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ไทยต้องขยับขึ้นตาม ขณะเดียวกันก็คงต้องดูภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง”
ส่วนมาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น การให้นำเงินต้นและดอกเบี้ย 300,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีได้จนถึงสิ้นปีนี้ และการขยายเวลาการลดค่าธรรมเนียมและภาษีจดจำนองจนถึงเดือนมีนาคม 2553 ก็ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนได้ระดับหนึ่ง
นายกิตติพล ยอมรับว่า ในช่วงครึ่งปีแรกยอดขายอสังหาริมทรัพย์มีการชะลอตัวร้อยละ 5-10 แต่ไม่ถึงกับวิกฤต เพราะบ้านเดี่ยวราคา 3-7 ล้านบาท ยังเป็นที่สนใจของประชาชน และเฃื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลาดอสังหาริทรัพย์จะดีขึ้น เนื่องจากเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ดังนั้น เศรษฐกิจไทยก็น่าจะฟื้นตัวตาม โดยประเมินยอดขายอสังหาฯ ทั้งปีจะลดลงร้อยละ 5 จากจำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่มีการจดทะเบียนประมาณ 80,000 ยูนิตในปีก่อนหน้านี้ แต่แบ่งเป็นบ้านเอื้ออาทร 8,000 ยูนิต
นพ.สมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม อดีตนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ผลงาน 6 เดือนของรัฐบาลถือว่าทำเต็มที่แล้ว เนื่องจากยังมีปัจจัยลบมากมาย ทำให้การใช้มาตรการต่างๆ อาจจะไม่เต็มที่ แต่ก็ให้กำลังใจรัฐบาลในการทำงานต่อ เพราะยังต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการระบาดของไข้หวัด 2009 ส่วนภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง มีการชะลอตัวบ้าง แต่เชื่อว่า จะดีกว่าครึ่งปีแรก ผู้บริโภคคงจะมีการเร่งซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี
ทั้งนี้ ทางสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย จะจัดงานแสดงสินค้าบ้านเดี่ยว ทาวเฮ้าส์และคอนโดมีเนียม ระหว่าง 11-20 กันยายน 2552 นี้ ที่สยามพารากอน โดยมีมากกว่า 20 โครงการ มูลค่ารวมของโครงการ 10,000 ล้านบาท และคาดว่า จะมียอดขายภายในงาน 600-1,000 ล้านบาท
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิด เผยถึงตัวเลขเบื้องต้นของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวม 5 เดือนแรกของปี 2552 (มกราคม-พฤษภาคม ) พบว่ามีจำนวนรวมประมาณ 28,800 หน่วย เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 จากตัวเลขประมาณ 27,450 หน่วยในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วเมื่อแยกประเภทของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ พบว่าเป็นบ้านเดี่ยวจำนวนประมาณ 12,350 หน่วย หรือประมาณร้อยละ 43 ของทั้งหมด รองลงมาเป็นห้องชุดคอนโดมิเนียมประมาณ 11,300 หน่วย หรือประมาณร้อยละ 39 ของทั้งหมด อันดับ 3 เป็นทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ประมาณ 4,650 หน่วย หรือประมาณร้อยละ 16 ของทั้งหมด และที่เหลือเป็นบ้านแฝดประมาณ 500 หน่วย
ทั้งนี้ เมื่อแยกตามพื้นที่ พบว่า ที่อยู่อาศัยทุกประเภทอยู่ในกรุงเทพฯ แห่งเดียวประมาณ 14,700 หน่วย หรือประมาณร้อยละ 51 อยู่ใน 5 จังหวัดปริมณฑลรอบกทม.รวมประมาณ 14,100 หรือประมาณร้อยละ 49 แบ่งเป็นนนทบุรีประมาณ 5,900 หน่วย หรือประมาณร้อยละ 20.5 สมุทรปราการประมาณ 2,750 หน่วย หรือประมาณร้อยละ 9.5 นครปฐม ประมาณ 2,350 หน่วย หรือประมาณร้อยละ 8 ปทุมธานีประมาณ 2,100 หน่วย หรือประมาณร้อยละ 7 และสมุทรสาคร ประมาณ 1,000 หน่วย หรือประมาณร้อยละ 3.5
นอกจากนี้ ยังพบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2552 มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จำนวนประมาณ 9,650 หน่วย นับเป็นเดือนที่มีจำนวนหน่วยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่สูงที่สุดตั้งแต่ต้นปีนี้มา โดยในเดือนมกราคม มีจำนวนประมาณ 3,450 หน่วย เดือนกุมภาพันธ์ มีจำนวนประมาณ 6,000 หน่วย เดือนมีนาคม มีประมาณ 6.100 หน่วย และเดือนเมษายน ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศมีน้อยมากเพียงประมาณ 3,550 หน่วย
ขณะเดียวกัน เมื่อแยกประเภทของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่เดือนพฤษภาคมพบว่าเป็นห้องชุดคอนโดมิเนียมมากที่สุดถึงประมาณ 5,250 หน่วย หรือประมาณร้อยละ 54 ของทั้งหมด เป็นบ้านเดี่ยวประมาณ 2,700 หน่วย หรือประมาณร้อยละ 28 ของทั้งหมด เป็นทาวน์เฮาส์ และอาคารพาณิชย์ประมาณ 1,550 หน่วย หรือประมาณร้อยละ 16 ของทั้งหมดและที่เหลือเป็นบ้านแฝดประมาณ 150 หน่วย แสดงให้เห็นว่าในเดือนพฤษภาคมเดือนเดียวมีห้องชุดคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่เกือบเท่ากับจำนวนของ 4 เดือนแรก รวมกัน โดยพบว่าเดือนมกราคม-เมษายน มีห้องชุด คอนโดมิเนียมสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ร่วมกันมีจำนวนประมาณ 6,050 หน่วย
“หากแยกเป็นแต่ละเดือนพบว่าในเดือนมกราคม 2552 มีจำนวนห้องชุดคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ประมาณ 750 หน่วย ในเดือนกุมภาพันธ์ มีจำนวนห้องชุดคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ประมาณ 2,550 หน่วย ในเดือนมีนาคมมีจำนวนห้องชุดคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ประมาณ 1,700 หน่วย และในเดือนเมษายนมีจำนวนห้องชุดคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ประมาณ 1,050 หน่วย”
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังมีหน่วยห้องชุดคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จจดทะเบียนมาก แต่ไม่ใช่ยอดขาย และเป็นผลโครงการที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2550 เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ค่อนข้างน้อย โดยคาดว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมในครึ่งหลังของปีเพิ่มมากขึ้นกว่าในครึ่งแรก โดยแนวโน้มจะเป็นโครงการที่มีราคาขายหน่วยละไม่เกิน 3 ล้านบาท เนื่องจากในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ กำลังซื้อต่อหน่วยของผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ
นายสัมมา ยังกล่าวถึงโครงการบ้านบีโอไอหลังรัฐบาลปรับเงื่อนไขในการส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการที่อยู่อาศัยราคาต่ำขยายเพดานราคาขายห้องชุดคอนโดมิเนียมในเขตส่งเสริมการลงทุนโซน 1 (กรุงเทพฯ-ปริมณฑล) จากไม่เกิน 600,000 บาท เป็นไม่เกิน 1 ล้านบาทและบ้านแนวราบเป็นไม่เกิน 1.2 ล้านบาทนั้น ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ไม่มีการขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอเลยเพราะผู้ประกอบการรอเงื่อนไขใหม่ แต่หลังจากนี้ คาดว่า จะมีผู้ประกอบการหลายราย ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯและนอกตลาด จะเบนเข็มมาสร้างที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกินเพดานใหม่ เพื่อหวังได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลานานถึง 5 ปีในโซน 1 และคาดว่า จะสร้างเสร็จในปีหน้าหรือปีถัดไปจึงคาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยระดับราคากลาง-ต่ำ (Lower-Middle Price Range) จะมีมากขึ้นในปีหน้า
นายสัมมา ยังระบุว่า สถานการณ์การเมืองแบ่งสีกำลังทวีความเข้มข้นขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่จะถึงนี้ และอาจต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง รวมทั้งสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งยังไม่สร่างซาลง อาจทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ซึ่งทำท่าว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องในระยะต่อไป ต้องสะดุดลงอีกครั้งหนึ่ง หากมีการใช้ความรุนแรงหรือมีอาการสะดุดทางการเมืองจากคดีความและผู้เกี่ยวข้องกับคดีความต่างๆ อีกทั้งในเดือนสิงหาคมและกันยายนนั้น มักเป็นเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ราชการต่างๆ ด้วย