คลังไฟเขียวตั้งกองทุน SMEs วงเงิน 5 หมื่นล้าน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพคล่อง คาดเริ่มจัดตั้งได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ ขณะที่เอกชนแนะ ธปท.ทบทวนบทบาทในการแก้ปัญหา บ่นอุบ อยู่ในวังวนเดิมๆ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการหารือกับทางกระทรวงการคลังในเรื่องการจัดตั้งกองทุน SMEs วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ SMEs ซึ่งนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยคาดว่ากองทุนดังกล่าวจะสามารถจัดตั้งได้ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2552 นี้
ประธาน ส.อ.ท.ระบุว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs ส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาสภาพคล่องตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา กองทุน SMEs วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทนี้ จึงมีความจำเป็นมาก เพราะช่วยให้ธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะ SMEs ขนาดเล็ก เข้าถึงสินเชื่อง่ายมากขึ้น
สำหรับกองทุนดังกล่าว คาดว่าจะมีรูปแบบคล้ายไมโครเครดิต ตามแนวคิดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้จัดตั้งกองทุนเพื่อ SMEs อาจเป็นเงินจากการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ซึ่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวมีวงเงินเหลือจากชดเชยขาดดุลงบประมาณส่วนหนึ่งที่รัฐบาลอาจพิจารณานำมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่กำลังประสบภาวะขาดสภาพคล่อง
นายสันติ กล่าวย้ำว่า สาเหตุการเสนอตั้งกองทุนดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันการช่วยเหลือ SMEs ที่ ธปท. ทำในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน ไม่สามารถทำได้อีก จึงมีแนวคิดเสนอตั้งกองทุน ส่วนการจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อาจไม่ทันกับการที่ SMEs ต้องเผชิญสภาวะขาดสภาพคล่องในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนมองว่า การที่รัฐบาลให้สถาบันการเงินของรัฐเพิ่มเป้าการปล่อยสินเชื่ออีก 3 แสนล้านบาทนั้น ในทางจิตวิทยาถือว่าส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่ในทางปฏิบัติอาจทำไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ เพราะสถาบันการเงินยังกลัวความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสีย ดังนั้นรัฐบาลควรหาแนวทางผ่อนปรนกฎเกณฑ์เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้ง่ายขึ้นน่าจะได้ผลดีกว่า