สสว.ชงมาตรการด่วน อุ้ม SMEs ส่อปิดกิจการ - คนตกงาน จัดทีมตรวจสุขภาพ ต่อชีวิตธุรกิจส่อล้ม ส่วนแรงงานถูกเลิกจ้างดึงฝึกอาชีพปั้นเป็นเถ้าแก่รายจิ๋ว ใช้งบ 287.3 ลบ. คาด SMEs ได้รับประโยชน์เกือบ 6 หมื่นราย เงินหมุนในตลาดเพิ่มเกือบ 7 หมื่นล้าน หยุดเลิกจ้างได้กว่า 11,000 คน
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า แผนการดำเนินงานเร่งด่วนในปี 2552 ของ สสว. จะมุ่งสนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs รายเดิมให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้ ขณะเดียวกันส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งเน้นกลุ่มธุรกิจที่สามารถเติบโตได้จากตลาดภายในประเทศ โดยระยะแรกนี้จะมุ่งเน้นใน 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้ประกอบการที่อาจจะต้องปิดกิจการ กับกลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง
ในส่วนผู้ประกอบการรายเดิมที่อาจจะต้องปิดกิจการ สสว. จะส่งทีมนักวินิจฉัยเข้าตรวจสุขภาพกิจการว่าอยู่ในสถานะหรือมีปัญหาอุปสรรคใด เพื่อช่วยเหลือให้กิจการผ่านวิกฤตไปได้ โดยแนวทางการช่วยเหลือจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับแรก ใช้ระบบให้คำปรึกษาแนะนำ และส่งนักวินิจฉัยเข้าศึกษา วิเคราะห์ปัญหาของกิจการ
ระดับที่สอง เมื่อได้ผลการวินิจฉัยกิจการแล้ว สสว. จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษา ทั้งด้านการพัฒนาหรือปรับปรุงตราสินค้า นวัตกรรมการผลิต การบริหารจัดการ การปรับปรุงเครื่องจักร รวมถึงการตลาด เป็นต้น โดยเบื้องต้น สสว. จะมุ่งเน้นใน 4 ธุรกิจหลัก คือ อิเล็กทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้า บริการการท่องเที่ยว การก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มผลิตสินค้าครัวเรือนในชุมชน อาทิ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง เป็นต้น
สำหรับการคัดเลือก SMEs ที่จะได้รับความช่วยเหลือ ทางผู้ประกอบการต้องส่งงบการเงินมาเข้าระบบประเมินของ สสว. หากค่าต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด ทาง สสว. จะดึงเข้าแผนดังกล่าวโดยตรง ส่วนรายที่ค่ายังสูงกว่าเกณฑ์ จะได้รับความช่วยเหลือทางอ้อมผ่านโครงการอื่นๆ
ในส่วนแรงงานที่ถูกเลิกจ้างนั้น สสว. จะนำมาฝึกอบรมทักษะใหม่(Re-Training) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้มากขึ้น และจะนำเข้าสู่อุตสาหกรรมเดิมที่ยังต้องการแรงงาน หรือส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ โดยจะนำธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดเล็กที่เกี่ยวกับอาหาร หรือกิจการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ไม้ประดับ เข้ามาช่วยให้กลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เป็นเจ้าของธุรกิจนี้ได้
นายภักดิ์ ระบุว่า แผนปฏิบัติการดังกล่าวจะดำเนินการภายใต้โครงการย่อย 10 โครงการ ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะกรรมการบริหาร สสว. แล้ว จำนวน 287.3 ล้านบาท แต่ยังกำลังรอผ่านคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หากผ่านการอนุมัติเมื่อใด สามารถลงมือปฏิบัติได้ทันที
ทั้งนี้ คาดว่า จะมี SMEs ได้รับประโยชน์รวม 5,963 ราย แบ่งเป็นได้ประโยชน์โดยตรง 2,740 ราย และทางอ้อม 3,223 ราย สร้างรายได้หมุนเวียนในตลาดเพิ่ม 69,163 ล้านบาท การจ้างงานเพิ่ม 3,500 คน คงสภาพการจ้างงาน 11,000 คน ช่วยให้ SMEs ลดต้นทุน 100 ล้านบาท การลงทุนเพิ่ม 82.5 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออกเพิ่ม 5,060 ล้านบาท