xs
xsm
sm
md
lg

จี้ตั้งศูนย์บูรณาการช่วย SMEs ดึงทุกฝ่ายร่วมมือเกาให้ถูกที่คัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

         ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา
นักวิชาการแนะรัฐบาลตั้งวอร์รูม บูรณาการความช่วยเหลือSMEs ทุกด้านมาไว้ด้วยกัน ช่วยแก้ปัญหาให้ตรงเป้า ระบุหากปล่อยต่างคนต่างทำแก้ไม่ถูกจุดจะสูญเงินเปล่า วอนผู้บริหารชาติหันมาให้ความสำคัญแก่SMEsอย่างแท้จริง


ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า แม้เวลานี้ รัฐบาลจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อจะช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังประสบภัยเศรษฐกิจ แต่อยากจะให้รัฐบาลใช้กลไก หรือเครื่องมือของภาครัฐที่มีอยู่จัดตั้งหน่วยงานกลาง หรือศูนย์รวมการทำงานขึ้นมา โดยนำหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม SMEs ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชนมาอยู่รวมกัน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน สสว. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ฯลฯ เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือต่างๆ ให้มีเอกภาพ สามารถทำงานเกิดผลเต็มประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างแท้จริง และไม่ซ้ำซ้อนกัน

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะลงมาช่วย SMEs ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษี หรือการจ้างอบรม หน่วยงานที่ส่งเสริม SMEs ที่มีหลายส่วน ต่างคนก็จะต่างทำ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน มีการอบรมอาชีพทั้งหมด ซ้ำซ้อนกันไปหมด ขณะเดียวกัน การอบรมต่างๆ หากไม่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ผู้ผ่านการอบรมออกมาก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ งบที่ลงไปก็สูญเปล่า ดังนั้น อยากให้นำหน่วยงานต่างๆ มาทำงานร่วมกันช่วยเหลือ SMEs ได้ตรงและครบวงจร” นักวิชาการ กล่าว และระบุต่อว่า

งบประมาณที่ลงมาช่วยเหลือ SMEs มีจำนวนไม่มากอยู่แล้ว และยิ่งต้องไปกระจายให้หน่วยงานต่างๆ ทำโครงการในเรื่องที่คล้ายๆ กัน เท่ากับใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า และในที่สุด น่าห่วงว่า ความช่วยเหลือจะไม่ถึงตัวผู้ประกอบการSMEs อย่างแท้จริง อีกทั้ง หากช่วยเหลือไม่ตรงประเด็น อาจเป็นการทำร้าย SMEs ด้วยซ้ำ แต่หากนำงบช่วยเหลือจำนวนเล็กๆ น้อยๆ ที่กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ มารวมกัน จัดสรรใหม่อย่างเป็นระบบ ทำงานภายใต้ศูนย์กลางที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น น่าจะช่วยเหลือ SMEs ได้ดีมากกว่า

“การอบรมต่างๆ ควรเป็นสาขาที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการจริงๆ หากภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เขาจะบอกได้ว่า ในภาคธุรกิจที่แท้จริง ต้องการเจ้าหน้าที่หรือพนักงานด้านใด นอกจากนั้น บางภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่ออนาคตของระบบเศรษฐกิจไทยแน่ๆ เช่น ด้านพลังทดแทน รัฐบาลสามารถเป็นเจ้าภาพจัดอบรมบุคลากรที่มีความรู้ด้านนี้ขึ้นมา เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต”

ผศ.ดร.ณัฐพล ระบุด้วยว่า ในอดีตสมัยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เคยพยายามเชื่อมต่อการทำงานและการแก้ปัญหาของSMEs ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน แต่หลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ความพยายามดังกล่าว ถูกละทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงผู้มีหน้าที่บริหารประเทศ ไม่ว่าฝ่ายใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ตาม อยากให้ส่งเสริมและให้ความสำคัญแก่SMEs อย่างจริงจังเสียที แทนที่จะให้ความสำคัญแต่คำพูดส่วนการปฏิบัติตรงกันข้าม เนื่องจากเศรษฐกิจจะเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องเกิดจากพื้นฐาน SMEs ที่แข็งแกร่ง เช่น ประเทศญี่ปุ่น สัดส่วนGDP ของประเทศกว่า 60% มาจากธุรกิจSMEs ส่วนเกาหลีใต้ สัดส่วนGDP ของประเทศกว่า 55% มาจากธุรกิจSMEs ซึ่งผู้นำทั้งสองชาติให้ความสำคัญเป็นผู้กำกับดูแลการส่งเสริม SMEs ด้วยตัวเอง ขณะที่ประเทศไทย ธุรกิจที่เข้าค่ายเป็น SMEs มีจำนวนกว่า 2 ล้านรายหรือ 99.7% จากธุรกิจทั้งหมดในประเทศ แต่กลับมีมูลค่าสัดส่วนGDP ของประเทศแค่ 39% ส่วนธุรกิจรายใหญ่ 0.3% หรือจำนวนประมาณ 4,000 ราย กลับมีสัดส่วนGDP ประเทศถึง 60% ซึ่งตัวเลขนี้ ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยผูกติดกับภาคธุรกิจส่วนน้อย ไม่ได้อยู่บนรากฐานที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น