xs
xsm
sm
md
lg

SHขายทิ้งธุรกิจอาหารฟันกำไรเฉียด94ล. เปลี่ยนชื่อใหม่มุ่งผลิตเอทอนอลรับตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซีฮอร์สขายธุรกิจอาหารให้ "ซีฮอร์ส อินเตอร์เทรด" รับกำไรเกือบ 94 ล้านบาท นำเงินชำระหนี้และเป็นทุนหมุนเวียน พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น" อีเทอเนิล เอนเนอยี " มุ่งผลิตเพียงเอทอนอล จำหน่ายรองรับความต้องการในประเทศที่มีสูงเกินกำลังผลิต เชื่ออนาคตสดใส

นายวรเจตน์ อินทามระ กรรมการ บริษัท ซีฮอร์ส จำกัด ( มหาชน ) ( SH ) แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 6/2552 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 ว่าบอร์ดอนุมัติให้ขายทรัพย์สินส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอาหารตามที่บริษัทได้จัดให้ยื่นขอเสนอประกวดราคาทรัพย์สินให้แก่บริษัท ซีฮอร์ส อินเตอร์เทรด จำกัด(SI) เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาที่ 670 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาตามบัญชี 576.28 ล้านบาท และจะชำระด้วยเงินสด แบ่งชำระเป็น 2 วิธีคือส่วนแรก 603 ล้านบาท ชำระในวันชำระราคา ส่วนที่สอง 67 ล้านบาท ชำระภายใน 90 วันนับจากวันชำระราคา

โดยให้ลงนามในสัญญาซื้อขายทรัพย์สินตามเงื่อนไข หาก SI ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สินได้ จะพิจารณาโอนทรัพย์สินส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอาหารไปยังบริษัท ซีฮอร์ส ฟูดส์ จำกัด บริษัทย่อยที่ SH ถือหุ้น 100 % ตามที่ได้เสนอต่อผู้ถือหุ้นไว้แล้ว ซึ่งบริษัทได้รับมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารจาก SI เป็นเงิน 30 ล้านบาทแล้ว เพื่อเป็นหลักประกันการเข้าทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2552

ทั้งนี้ บอร์ดมีมติแต่งตั้งบริษัท แคปปิตอล พลัส แอดไวซอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเพื่อให้ความเห็นต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยในการพิจารณาอนุมัติการขายทรัพย์สินดังกล่าว

สำหรับ ซีฮอร์ส อินเตอร์เทรด มีนายชาตรี มหัทธนาดุลย์ และนายมนตรี มหัทธนาดุลย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม โดยนายชาตรีและนายมนตรี ปัจจุบันเป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของ SH เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อยของ SH คือ บริษัท ขอนแก่นคอร์เปอเรชั่น (1990) จำกัด (KK) ซึ่ง SH ถือหุ้น 93% และเป็นอดีตกรรมการของ SH

การขายธุรกิจธุรกิจอาหารเพราะธุรกิจนี้ทำให้บริษัทประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 ประกอบกับภาวะอุตสาหกรรมอาหารทะเลส่งออกของไทยมีแนวโน้มลดลงและการแข่งขันสูง บริษัทจึงจะหยุดดำเนินธุรกิจอาหาร เพื่อลดผลขาดทุนและนำเงินสดที่ได้ไปชำระหนี้สินของธุรกิจอาหารและเป็นทุนหมุนเวียน คาดรับรู้ผลกำไรจากราคาขายทรัพย์สินเกือบ 94 ล้านบาท

พร้อมกันนี้บอร์ดอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น " บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) " เพราะจากนี้จะเน้นธุรกิจเอทานอลอย่างเดียว ซึ่งมีความต้องการพลังงานทดแทนสูงกว่ากำลังผลิตภายในประเทศ และแนวโน้มจะยิ่งสูงขึ้นในอนาคตตามแผนของกระทรวงพลังงานในการใช้เอทานอลเป็นพลังงานทดแทนเพื่อลดการนำเข้านํ้ามันเชื้อเพลิง เพิ่มโอกาสสร้างประสิทธิภาพการผลิตและผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นมากขึ้น

กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 วันที่ 31 สิงหาคม 2552 และกำหนดรายชื่้อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุม วันที่ 6 สิงหาคม 2552 ให้รวบรวมรายชื่อตามมาตรา 225 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ด้วยวิธีปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นวันที่ 7 สิงหาคม 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น