“โสภณ” จี้ สนข.เร่งสรุปแผนแม่บทรถไฟฟ้า 12 สาย ชง ครม.ใน ส.ค.นี้ ดัน สีส้มและชมพูก่อสร้างก่อนรองรับเปิดศูนย์ราชการและแก้จราจรย่านรามคำแหง มูลค่า 1.48 แสนล้านบาท เผยรัฐฯ เทงบไทยเข้มแข็งระยะ 2 ปี 5.35 แสนล้าน พร้อมลุยสร้างรถไฟฟ้าสีส้ม-ชมพู พร้อมปรับแผนแม่บทใหม่ใน20 ปีลงทุน 8.38 แสนล้าน ระยะทาง 486.9 กิโลเมตร
วานนี้ (20 ก.ค.) สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการของประชาชน ในโครงการศึกษาปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครั้งที่ 2 โดยนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมว่า การทบทวนแผนแม่บทรถไฟฟ้า 12 เส้นทางเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน และให้เร่งสรุปเพื่อเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนส.ค.นี้
โดยนอกจากเส้นทางที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ ได้ให้นโยบายเร่งรัดรถไฟฟ้า 2 สายเป็นพิเศษคือ สายสีชมพู ช่วงปากเกร็ด – มีนบุรี ระยะทาง 29.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 31,240 ล้านบาท เพื่อรองรับศูนย์ราชการและการเติบโตของกรุงเทพฯด้านเหนือ และสายสีส้ม ช่วงบางบำหรุ – มีนบุรี ระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 117,600 ล้านบาทซึ่งเป็นบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น
ทั้งนี้ หากครม.ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทรถไฟฟ้า 12 สายแล้ว จะสามารถออกแบบรายละเอียดสายสีชมพูและส้มได้ทันทีโดยจะโยกงบประมาณ 400 ล้านบาทจากเดิมที่กำหนดไว้สำหรับการศึกษารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินวงแหวนรอบในรัชดาภิเษก มาใช้ก่อน
“การสัมมนาเพื่อระดมความเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการในแผนแม่บทที่ปรับใหม่ ซึ่งนโยบายในการจัดระบบขนส่งในกทม.นั้นนอกจากการพัฒนารถไฟฟ้าให้เกิดการเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายแล้วจะต้องพัฒนาระบบรถเมล์ไปพร้อมกันด้วย ถึงจะแก้ปัญหาจราจรสำเร็จ” นายโสภณ กล่าว
นายโสภณ กล่าวว่า ภายในปีนี้ จะสามารถเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อได้โดยขณะนี้ผลการประกวดราคาทั้ง 3 สัญญา พบว่า ค่าก่อสร้างรวมทั้งสัญญาระบบรางอยู่ในกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ 36,055 ล้านบาท โดยจะเร่งสรุปเพื่อเสนอครม.เพื่อลงนามสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมาต่อไป ส่วนสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กม. มูลค่า 79,904 กระทรวงการคลังยืนยันจะหาเงินกู้ภายในประเทศให้ภายในปีนี้ ขณะที่สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึงจะเร่งรัดด้วย
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.6 กม. มูลค่า 25 ,248 ล้านบาท และสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.4 กม. มูลค่า 32,052 ล้านบาท นั้น เห็นว่าหากกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดจะเร็วกว่า และไม่มีปัญหาเรื่องงบลงทุน และก่อนหน้านี้ มติครม.ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบงานก่อสร้างแต่เพื่อความชัดเจนทั้งการก่อสร้างแบะการบริหารการเดินรถ ในสัปดาห์หน้าจะเชิญกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาหารือกันอีกครั้ง
***ฟุ้งรัฐเทงบไทยเข้มแข็งปี 53
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า ตามแผนรถไฟฟ้าสีชมพู จะเป็นระบบโมโนเรล และสีส้ม จะมีทั้งระบบลอยฟ้าและใต้ดิน จะใช้งบตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองหรือแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (SP2) โดยในปี 2553 สีชมพู วงเงิน 3,711 ล้านบาท สีส้ม วงเงิน 1,702 ล้านบาท ปี 2554 สีชมพู วงเงิน 7,422 ล้านบาท สีส้ม วงเงิน 3,404 ล้านบาท ปี 2555 สีชมพู วงเงิน 11,133 ล้านบาท สีส้ม วงเงิน 5,106 ล้านบาท
***ปรับแผนผุดรถไฟฟ้า 12 สาย
สำหรับแผนงานโครงข่ายรถไฟฟ้า 12 เส้นทาง ระยะทาง 486.9 กิโลเมตร ดำเนินการ 20 ปี (2553-2572) มูลค่าลงทุนรวม 838,250 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. สายสีแดง (ธรรมศาสตร์ –มหาชัย) มี 3 ช่วง คือ บางซื่อ-รังสิต-ธรรมศาสตร์, บางซื่อ-หัวลำโพง-บางบอน, บางบอน-มหาชัย ระยะทาง 85.3 กิโลเมตร วงเงิน147,750 ล้านบาท 2. สายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) มี 4 ช่วง คือ บางซื่อ-ตลิ่งชัน, ตลิ่งชัน-ศาลายา, บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน,
มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร วงเงิน 86,340 ล้านบาท 3. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์(พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ) ระยะทาง 28.5 กิโลเมตร วงเงิน 25,920 ล้านบาท 4. สายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-หมอชิต-สมุทรปราการ-บางปู) ระยะทาง 66.5 กิโลเมตร วงเงิน102,420 ล้านบาท 5. สายสีเขียวอ่อน (ยศเส-บางหว้า) ระยะทาง 15.5 กิโลเมตร วงเงิน 15,130 ล้านบาท
6. สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ) ระยะทาง 55 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 93,100 ล้านบาท 7. สายสีม่วง (บางใหญ่ –ราษฎร์บูรณะ และแคราย-ปากเกร็ด) ระยะทาง 49.8 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 135,880 ล้านบาท 8. สายสีส้ม (บางบำหรุ –มีนบุรี) ระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงิน117,600 ล้านบาท 9.สายสีชมพู (ปากเกร็ด –มีนบุรี) ระยะทาง 29.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุน31,240 ล้านบาท 10. สายสีเหลือง (ลาดพร้าว –สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 38,120 ล้านบาท 11. สายสีเทา (วัชรพล –สะพานราม 9) ระยะทาง 26 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 31,870 ล้านบาท และ 12. สายสีดำ (ดินแดง –สาทร) ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 12,880 ล้านบาท
***ร.ฟ.ท.ตั้งคณะทำงานร่วมหาข้อยุติ
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) วานนี้ (20 ก.ค.) ถึงแผนการปรับโครงสร้างร.ฟ.ท. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตั้งคณะทำงานร่วม 2 ฝ่ายๆ ละ 5 คน โดยมี นายถวิล สามนคร รองผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท.เป็นประธาน เพื่อหารือในรายละเอียดที่ยังไม่เข้าใจและมีส่วนไหนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยและให้นำผลการหารือของคณะทำงานรวม 2 ฝ่าย มาประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 27 ก.ค. 52 นี้ ในเบื้องต้น สหภาพฯ ร.ฟ.ท.เห็นด้วยที่จะเดินหน้าระบบขนส่งทางรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีขนส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตลิงค์) แต่ไม่เห็นด้วยกับการจ้างบริษัทเดินรถ เพราะเห็นว่าพนักงานร.ฟ.ท.มีศักยภาพที่จะดำเนินการเองได้
*** สหภาพฯจวกผู้บริหารไม่จริงใจ
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพ (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ฝ่ายบริหารร.ฟ.ท.นัดหารือกับสหภาพฯ ในประเด็นการตั้งบริษัทลูกเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์ซึ่งกำหนดจะเปิดเดินรถในเดือน ธ.ค. 52 ซึ่ง สหภาพฯ ไม่เห็นด้วยกับการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการและเห็นว่า สำนักบริหารโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นหน่วยงานของร.ฟ.ท.เองสามารถดำเนินการได้
ส่วนปัญหาเรื่องการรับพนักงานเพิ่มติดเงื่อนไขมติครม.ที่ให้ร.ฟ.ท.รับพนักงานใหม่ได้ปีละไม่เกิน 5% ของจำนวนพนักงานที่เกษียณในปีนั้นๆ ตามที่ฝ่ายบริหารอ้างถึงความจำเป็นที่ต้องตั้งบริษัทลูกขึ้นมานั้น มติดังกล่าวมีช่องว่างที่ร.ฟ.ท.สามารถเสนอครม.แก้ไขได้
จากการหารือกันนั้น ฝ่ายบริหารไม่มีเอกสารข้อมูลรายละเอียดการดำเนินโครงการที่ชัดเจน และไม่สามารถตอบข้อสงสัยของสหภาพฯได้เลย จึงเห็นว่า ฝ่ายบริหารยังไม่มีความจริงใจที่จะเจรจาและหาทางออกที่ดีสำหรับร.ฟ.ท.ร่วมกัน ดังนั้นหากยังเป็นเช่นนี้ จึงไม่มั่นใจว่า การตั้งคณะทำงานร่วมกันจะสามารถหาข้อสรุปได้
“สหภาพฯ ไม่ได้คัดค้านการปรับโครงสร้าง เพราะต้องการเห็นร.ฟ.ท.ดีขึ้นแต่ ฝ่ายบริหารไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้มีแต่แผนและกรอบเท่านั้น ส่วนในที่ประชุมก็ไม่มีข้อมูลอะไรเลยนอกจากหนังสือเชิญประชุมแผ่นเดียว อย่างไรก็ตาม ยืนยัน พนักงานรถไฟสามารถบริหารและดำเนินโครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ได้ แต่ที่ผ่านมา
ภาคนโยบายไม่ยอมเปิดโอกาสให้พนักงานรถไฟมีส่วนร่วมเลย ตั้งแต่แรก โดยบอกว่า พนักงานรถไฟไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องให้เอกชนเข้ามาเดินรถแอร์พอร์ตลิ้งค์”นายสาวิทย์กล่าว