xs
xsm
sm
md
lg

บล.รับอานิสงส์ตลาดหุ้นคึกคัก กิมเอ็งคว้าแชมป์โกยแชร์ไตรมาส 2 สูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัทหลักทรัพย์ รับอานิสงส์ตลาดหุ้นไทยคึกคัก หลังไตรมาส 2/52 มูลค่าซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันสูงกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ 8.6 พันล้านบาท ด้านบล.กิมเอ็ง ยังคว้าแชมป์โบรกเกอร์ที่มีมาร์เกตแชร์สูงสุดถึง 2.6 แสนล้าน คิดเป็น 10.64% ขณะที่ผู้บริหารมั่นใจ ผลงานโบรกเกอร์ไตรมาส 2/52 โดดเด่น แต่ครึ่งปีหลังยังคาดเดายาก พร้อมปรับกลยุทธ์เพิ่มช่องทางหารายได้ใหม่เพิ่ม และออกผลิตภัณฑ์ใหม่จูงใจลูกค้า

ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา การลงทุนในตลาดหุ้นไทยเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่นักลงทุนต่างประเทศได้กลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเป็นไปอย่างคึกคัก บางวันมูลค่าการซื้อขายสูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 21,322.99 ล้านบาท เทียบกับงวดไตรมาส 1/52 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันแค่ 8,659.71 ล้านบาท

จากมูลค่าการซื้อขายที่ที่หนาแน่น ได้ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ ที่มีรายได้หลักจากค่าธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น เพราะต่างคาดการณ์ว่ากลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น

ASTVผู้จัดการรายวัน ได้สำรวจส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ของบริษัทหลักทรัพย์ ประจำงวดไตรมาส 2 สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2552 เทียบกับไตรมาสแรกปี 2551 พบว่า บริษัทหลักทรัพย์ 5 อันดับแรกที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด ได้แก่ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST ที่มีมูลค่าการซื้อขายรวม 263,173.15 ล้านบาท คิดเป็นมาร์เกตแชร์ที่ 10.64% บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP มูลค่าการซื้อขาย 146,405.87 ล้านบาท คิดเป็น 5.92%

บล.เคที ซีมิโก้ จำกัด หรือ KTZ มูลค่าการซื้อขาย 144,934.92 ล้านบาท คิดเป็น 5.86% บล.บีฟิท จำกัด (มหาชน) หรือ BSEC มูลค่าการซื้อขาย 139,974.24 ล้านบาท คิดเป็น 5.66% และ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PST มูลค่าการซื้อขาย 128,381.12 ล้านบาท คิดเป็น 5.19% (ตารางประกอบข่าว)

เปรียบเทียบกับไตรมาส 1/52 บริษัทหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ บล.กิมเอ็ง มูลค่าการซื้อขาย 101,550.88 ล้านบาท คิดเป็น 9.61% บล.บีฟิท มูลค่าการซื้อขาย 59,685.41 ล้านบาท คิดเป็น 5.65% บล.เอเซีย พลัส มูลค่าการซื้อขาย 58,642.83 ล้านบาท คิดเป็น 5.55% บล.ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ ZMICO (ก่อนที่จะรวมกับ บล.เคทีบี) มูลค่าการซื้อขาย 56,206.08 ล้านบาท คิดเป็น 5.32% และ บล.ภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ PHATRA มูลค่าการซื้อขาย 51,722.23 ล้านบาท คิดเป็น 4.90%

นางบุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ กรรมการผู้จัดการสายงานการตลาด บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST เปิดเผยถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานของไตรมาส 2/52 ว่า บริษัทคาดว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าไตรมาส 1/52 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 46.01 ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะปรับตัวขึ้นมากน้อยเพียงใด

สำหรับแผนการดำเนินงานในไตรมาส 3/52 นั้น บริษัทจะมีการพิจารณาออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม เช่น ใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ (DW) ฯลฯ เพื่อขยายฐานรายได้และเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน ตลอดจนการเตรียมพร้อมในด้านระบบและการให้บริการกับลูกค้า เพื่อรองรับการแข่งขัน หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศนโยบายที่จะเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์และเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) ในปี 53

ส่วนเงินลงทุนในธุรกิจหลักทรัพย์นั้น นางบุญพร กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตลงทุนหลักทรัพย์ประมาณ 50 ล้านบาท และยังมีนโยบายจะพิจารณาปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าพอร์ตลงทุนดังกล่าวยังอยู่ในกรอบที่คณะกรรมการบริษัท ได้อนุมัติไว้มูลค่า 50-100 ล้านบาท

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP กล่าวว่า จากภาพรวมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อวัน ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ที่ผ่านมา ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่า ผลประกอบการในไตรมาส 2 ปีนี้น่าจะออกมาดีกว่าไตรมาสแรกของปีเดียวกันที่ขาดทุนสุทธิ 19.49 ล้านบาท

สำหรับแผนการดำเนินงานในครึ่งหลังปี 2552 คงเน้นรายได้หลักจากค่าธรรมเนียมการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ โดยปีนี้ตั้งเป้ารักษาส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 5% จากปีก่อนที่มีมาร์เกตแชร์ อยู่ที่ 5.39% รวมทั้งจะพยายามกระจายฐานรายได้และบริการให้หลากหลาย อาทิ งานด้านวาณิชธนกิจ ที่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงเดือนเมษายน เพื่อสร้างเสถียรภาพที่มั่นคง โดยปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ แบ่งเป็นการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ประมาณ 9 บริษัท ที่ปรึกษาด้านการควบรวมกิจการอีกประมาณ 3 บริษัท รวมทั้งงานที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) อีกประมาณ 5 บริษัท

ทั้งนี้ ปัจจุบันวงเงินที่ใช้ในการลงทุนในธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทมีประมาณ 3 พันล้าน โดยเน้นกระจายการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น หลักทรัพย์ อนุพันธ์ ฯลฯ เพื่อป้องกันความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ ในระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ ทางบริษัทยังเตรียมจะออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนเพิ่มเติม แต่หากไม่สามารถออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์ดังกล่าวได้ทันตามกำหนดทางบริษัทอาจจะหันดำเนินการลงทุนในผลิตภัณฑ์นี้แทน

“เรื่องที่หลายฝ่ายประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลงในครึ่งปีหลังนั้น ยังเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากเกิดขึ้นจริง บริษัทก็ไม่ได้วิตกกังวลมาก เพียงแค่ปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารและการลงทุนในส่วนต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะที่เกิดขึ้นเท่านั้น”

ม.ล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงทิศทางผลประกอบการในไตรมาส 2/52 ว่า รายได้ของบริษัทน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก เนื่องจากมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นมาจากระดับ 8 พันล้านบาท เป็น 3 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะอยู่ระหว่างการจัดทำงานการเงินไตรมาสดังกล่าว

ส่วนแนวทางการบริหารงานของไตรมาส 3 ปีนี้ บริษัทจะยังคงยึดโยบายการบริหารแบบเดิม คือ นโยบายการปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นแทนการปรับลดพนักงาน รวมถึงบริษัทเตรียมนำบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดกลางและใหญ่ร่วมเดินทางไปโรดโชว์ไปยังประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2552

“เหตุผลที่ บล.ซิตี้คอร์ป เลือก บจ.ขนาดกลาง และใหญ่แทนที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กร่วมเดินทางไปโรดโชว์ครั้งนี้ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเป็นสถาบันต่างๆ ดังนั้น หากเลือก บจ.ขนาดเล็ก จะทำให้สถาบันต่างๆ ไม่สามารถเข้ามาลงทุนได้ รวมทั้งการไปครั้งนี้อยากให้นักลงทุนต่างประเทศได้เห็นศักยภาพของธุรกิจไทย และเป็นการกระตุ้นความสนใจของผู้ลงทุนเหล่านี้ได้อีกทางหนึ่ง”

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 3/52 นั้น ม.ล.ทองมกุฎ กล่าวว่า ขณะนี้คงจะคาดเดาผลประกอบการไตรมาส 3/52 ได้ยาก ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
กำลังโหลดความคิดเห็น