xs
xsm
sm
md
lg

ชงภาษีที่ดินเข้า ครม.พิจารณา ส.ค.นี้ เชื่อ ศก.เกิดประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.คลัง เตรียมเสนอร่างกฎหมาย ภาษีทีดิน-สิ่งปลูกสร้าง เข้าที่ประชุม ครม.ได้ ในเดือน ส.ค.นี้ มั่นใจมีเวลา 1 ปี ในการชี้แจงต่อประชาชน เชื่อจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่ดินให้เป็นประโยชน์มากขึ้น พร้อมยืนยัน ยังไม่นำภาษีมรดกมาพิจารณาเพื่อจัดเก็บในตอนนี้ “กรณ์” ยอมรับ รวยที่ดิน แต่ต้องจ่ายภาษีปีละเป็นล้าน

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ดินให้เป็นประโยชน์มากขึ้น และไม่กระทบกับผู้มีรายได้น้อย เพราะเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้คนที่มีทรัพย์สินและที่ดินเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมาก นำออกมาใช้ประโยชน์หรือขายให้กับบุคคลที่ต้องการนำที่ดินมาพัฒนาให้เกิดความคุ้มค่า เพราะหากถือครองไว้ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ยังเดินหน้าแนวคิดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนสิงหาคม 2552 นี้ และจากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากสภาอนุมัติกฎหมายแล้ว รัฐบาลก็ยังมีเวลาอีกอย่างน้อย 1 ปีเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า รัฐบาลจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้ประกอบการและประชาชนอีกหลายครั้ง และจะให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

“ตรงนี้เป็นแรงกระตุ้น เพราะจากการคำนวณภาษีแล้ว ผมมีภาระภาษีจากทรัพย์สินและที่ดินที่จะต้องจ่ายถึงปีละเกือบล้านบาท ฟังแล้วตกใจ ทำให้คิดได้ว่าที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็ควรจะขายและการเก็บภาษีนี้ เพื่อให้คนอื่นได้คิดถึงความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรที่ดิน เพื่อเปลี่ยนมือไปยังผู้ที่คิดว่าได้ใช้ประโยชน์มากกว่า”

รายงานเพิ่มเติม ระบุว่า รมว.คลัง และ ภริยา รายงานบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง รมว.คลัง มีทรัพย์สินสูงสุดใน ครม.ที่ 809,930,579.03 บาท หนี้สิน 2,255,116.22 บาท โดยมีทรัพย์สินเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถึง 224.5 ล้านบาท

สำหรับภาษีมรดกนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะนำมาพิจารณา เพราะมองว่ายังมีรายละเอียดที่ไม่เป็นธรรมกับเจ้าของที่ดิน ซึ่งต้องเสียภาษีที่ดินจากทรัพย์สินที่ถือไว้ในปัจจุบันแล้ว เมื่อต้องโอนทรัพย์สินเหล่านั้นให้บุตรธิดา จะต้องเสียภาษีมรดกอีกครั้ง จึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น