xs
xsm
sm
md
lg

คลังเตรียมชงภาษีที่ดินเข้า ครม.ชี้ Q2 สัญญาณ ศก.เริ่มฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศค.เผย รมว.คลัง เตรียมชงภาษีที่ดินเข้า ครม.เร็วๆ นี้ เล็งเจาะกลุ่มเศรษฐีบ้านนอก รีดเงินเข้ากระเป๋า อปท. ยันไม่ใช่ถังแตก พร้อมโต้โพลหอการค้า คำนวณดัชนีความเชื่อมั่นการบริโภคเป็นการสำรวจในอนาคต หากนำข้อมูลจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมาคำนวณและไปสอบถามประชาชน ข้อมูลก็จะดีขึ้น ยันไตรมาส 2 สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น

นายสมชัย สัจจพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยระบุว่า ขณะนี้เสนอให้ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว โดย นายกรณ์ อยู่ระหว่างหารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อหาเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้

สำหรับข้อสงสัย 2 ส่วน คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะจัดเก็บเมื่อใดนั้น ยืนยันว่า ไม่ได้จัดเก็บรายได้ช่วงนี้ แต่จะมีจัดเก็บในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดเก็บภาษี และขอย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้ถังแตกจนต้องหาทางเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมาย

“ยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมและระบบภาษี เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการมา 30 ปีแล้ว และภาษีดังกล่าวจะให้ อปท.จัดเก็บเป็นรายได้ของ อปท.ไม่ได้เข้าสู่รัฐบาลกลาง ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการเพิ่มอำนาจการบริหารและเพิ่มความสำคัญแก่ อปท.ในการบริหารดูแลงบประมาณในพื้นที่มากขึ้น”

นายสมชัย ยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 2 โดยระบุว่า สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ตัวเลขการส่งออกสาขาต่างๆ ติดลบน้อยลง ขณะที่ดัชนีหุ้นปรับตัวดีขึ้นจาก 400 จุด เป็น 500 จุด การว่างงานเริ่มลดลง แต่ก็ต้องจับตาดู อย่างไรก็ตาม รายได้ของรัฐบาลที่คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย 280,000 ล้านบาท ก็ยังอยู่ในกรอบคาดการณ์เดิม

สำหรับสัญญาณที่ดีอีกอย่างหนึ่ง คือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั่วประเทศในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากปกติจะจัดเก็บได้ 30,000 ล้านบาทต่อเดือน ขยับเป็น 35,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่ต้องติดตามดูการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นสัญญาณที่ดี เพราะการบริโภคเริ่มขยายตัว

ส่วนกรณีหอการค้าไทยแถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2552 โดยระบุว่า ลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เพราะข้อมูลดังกล่าวเป็นการสำรวจในอนาคต หากนำข้อมูลจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมาคำนวณและไปสอบถามประชาชน ข้อมูลก็จะดีขึ้น ทำให้สัญญาณของประเทศน่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกจะติดลบต่ำสุดร้อยละ 6 ไตรมาส 2 ติดลบกว่าร้อยละ 4 ไตรมาส 3 ติดลบกว่าร้อยละ 3 จากนั้นไตรมาส 4 จะขยับเป็นบวกกว่าร้อยละ 1 เนื่องจากจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2551 ติดลบมากที่ร้อยละ 4.3 ทำให้ฐานต่ำ โดยเฉลี่ยทั้งปีจีดีพีน่าจะอยู่ที่ลบร้อยละ 3 แต่ไม่ถึงร้อยละ 4 ซึ่งสัญญาณดังกล่าวสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น