xs
xsm
sm
md
lg

เก็บภาษีตามราคาที่ดิน ประชาพิจารณ์หนุนเว้นที่อยู่อาศัย-เกษตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงการคลังทำประชาพิจารณ์กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระบุท้องถิ่นสนับสนุนให้เก็บภาษีตามมูลค่าแทนจำนวนหลังได้ข้อสรุปมูลค่าที่ดินแต่ละแปลงแตกต่างกันมาก เผยยกเว้นภาษีที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการเกษตร ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ วัด ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือที่ดินสาธารณะที่ไม่ได้หาประโยชน์ ที่เหลือเข้าข่ายเสียภาษีทั้งหมด อธิบดีธนารักษ์เผยใช้เวลา 2 ปีประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นฐานภาษีต่อไป

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับปรุงร่าง พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ภายหลังจากที่ได้ทำประชาพิจารณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นผู้ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นโดยตรง

โดยจากการจัดทำประชาพิจารณ์พบว่า อปท.ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าควรมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นหลักเพื่อไม่ให้รับภาระจากกฎหมายฉบับนี้มากนัก โดยเฉพาะในส่วนที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยและที่ดินเพื่อการเกษตรสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งหลักการในการจัดเก็บภาษีจะวัดจากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักจากเดิมที่วัดจากจำนวนที่ดินทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเนื่องจากที่ดินในแต่ละแปลงมีมูลค่าแตกต่างกัน

“หลักการที่ท้องถิ่นให้ความเห็นกับกระทรวงการคลังคือต้องไม่ซ้ำเติมผู้ที่มีรายได้น้อยและลดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะคนจนที่รัฐบาลไม่ควรต้องไปเรียกเก็บภาษี ซึ่งเดิมภาษีโรงเรือนและที่ดินจะจัดเก็บจากค่าเช่าหรือจำนวนที่ดินทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินซ้ำซ้อนกับการจัดเก็บภาษีจากเงินได้ของประชาชนที่ต้องเสียภาษีเป็นปกติอยู่แล้ว” นายสมชัยกล่าว

สำหรับอัตราส่วนในการจัดเก็บภาษีนั้นในขั้นเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกระบวนการของรัฐสภาจะยังไม่กำหนดอัตราการจัดเก็บออกมาเพราะหากกำหนดอัตราการจัดเก็บไว้ในกฎหมายแม่จะเกิดการถกเถียงกันในกระบวนการออกกฎหมายจนอาจทำให้กฎหมายฉบับนี้ล้มในขณะที่ผ่านการพิจารณาของสภาได้

ดังนั้นในร่างกฎหมายจึงได้กำหนดคณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีกลางโดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในการกำหนดอัตราเพดานการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอัตราเพดานภาษีที่กำหนดขึ้นมาดังกล่าวขึ้นอยู่กับว่าท้องถิ่นที่รับผิดชอบจะจัดเก็บภาษีในอัตราเท่าใด จะเก็บมากเก็บน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เงินของท้องถิ่น รวมทั้งท้องถิ่นที่มีอัตราความเจริญทางด้านเศรษฐกิจมากมีมูลค่าที่ดินสูงก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้มากและเลี้ยงดูตัวเองได้

“ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการกำหนดบทเฉพาะกาลไว้ในท้ายกฎหมายถึงระยะเวลาที่จะจัดเก็บภาษีเพื่อให้ทุกฝ่ายปรับตัว โดยใน 2 ปีแรกที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีแต่อย่างใด ปีที่ 3 เก็บในอัตรา 50% ของอัตราภาษีที่กำหนด ปีที่ 4 เก็บ 75% และในปีที่ 5 จัดเก็บเต็มตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายลูก และในสัปดาห์นี้จะเดินหน้าทำประชาพิจารณ์กฎหมายฉบับนี้เพิ่มเติมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ อุบลราชธานีและกรุงเทพมหานครเพื่อทำความเข้าใจที่ชัดเจนกับกฎหมายฉบับนี้กับทุกฝ่าย” นายสมชัยกล่าว

นายเทวัญ วิชิตะกุล อธิบดี กรมธนารักษ์กล่าวว่า กรมธนารักษ์มีเวลา 2 ปีหลังจากที่ พรบ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ในการประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเป็นฐานภาษี โดยจะร่วมมือกับกรมแผนที่ทหาร กรมที่ดินในการจัดทำแผนที่ดินรายแปลงอย่างละเอียด เพื่อเป็นราคาจดสิทธินิติกรรม เพราะภาษีโรงเรือนที่ใช้ในปัจจุบันจะเป็นฐานภาษีจากค่าเช่า แตกต่างจากที่จะบังคับใช้ใหม่ที่เป็นราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงต้องปรับปรุงแบบประเมินอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ปัจจุบันมี 61 แบบเพื่อให้ตีมูลค่าในเชิงลึกออกมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะกำหนดอัตราภาษีไว้ 3 อัตราคือ1.อัตราทั่วไปสำหรับที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ อัตราไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน 2.ที่อยู่อาศัย อัตราไม่เกิน 0.1% ของมูลค่าทรัพย์สิน 3. ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม อัตราไม่เกิน 0.05% ของมูลค่าทรัพย์สิน ส่วนกรณีพื้นที่ว่างเปล่า จะจัดเก็บในอัตรา 0.5% ของมูลค่าสินทรัพย์ ส่วนที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีได้แก่ พระราชวัง ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐ หรือ ที่ดินสาธารณะที่ไม่ได้หาประโยชน์ วัด ฯลฯ นอกเหนือจากนั้นจะอยู่ในข่ายเสียภาษีทั้งหมด

ทั้งนี้ ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ที่ใช้ในปัจจุบัน มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมาก เนื่องจากกรณีทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่อาศัยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะ ในเขตกรุงเทพมหานคร บ้านอยู่อาศัยขนาดพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางวา ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่เจ้าของบ้านบางรายมีรายได้ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันกลับเรียกเก็บภาษีประเภทที่ดินเช่าเพื่อก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ ตึกแถว ห้างสรรพสินค้า โรงแรม อพาร์ตเมนต์ หอพัก อาคารสำนักงาน บ้านเช่า ฯลฯ ในอัตราภาษีสูงถึง 12.5% ของค่าเช่า/ปี ซึ่งเจ้าของที่ดิน เอกชน หรือ หน่วยงานรัฐ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะผลักภาระให้กับผู้ประกอบการที่เช่าที่ดินเป็นผู้เสียภาษีรายปีแทน และในทางปฏิบัติ ผู้ประกอบการที่พัฒนาอาคารให้เช่า จะผลักภาระให้กับผู้บริโภคที่ใช้พื้นที่อีกทอดหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น