ผลสำรวจชี้ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เกือบ 70% ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลสหรัฐ จะถือหุ้นใหญ่ใน GM เพราะเอาภาษีของคนทั้งประเทศไปอุ้มธุรกิจเอกชน หวั่นผลประโยชน์ทับซ้อน ออกมาตรการให้คนซื้อรถใหม่แทนรถเก่า
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันซึ่งจัดทำโดย Rasmussen บ่งชี้ว่า 2 ใน 3 ของชาวอเมริกันไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเข้าเทคโอเวอร์กิจการจีเอ็มด้วยการใช้งบประมาณอย่างน้อย 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อให้รัฐบาลเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้
ทั้งนี้ ผลสำรวจของ Rasmussen ระบุว่า มีชาวอเมริกันที่ตอบรับการสำรวจเพียง 21% เท่านั้นที่สนับสนุนแผนการดังกล่าว ขณะที่มีชาวอเมริกันถึง 56% ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐจะเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในจีเอ็ม โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการดีกว่าหากรัฐบาลปล่อยให้จีเอ็มล้มละลาย
นักวิเคราะห์ ระบุว่า จีเอ็ม ซึ่งขาดทุนเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เตรียมยื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลายในวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2552 ก่อนเวลา 08.00 น.ตามเวลานิวยอร์ก และจะขายสินทรัพย์เกือบทั้งหมดให้กับบริษัทแห่งใหม่ โดยจีเอ็มได้แต่งตั้งนายอัล คอช เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปรับโครงสร้าง
ในการสำรวจของ Rasmussen เมื่อเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา ชาวอเมริกันกว่า 60% กล่าวว่า การที่รัฐบาลเข้าเทคโอเวอร์กิจการจีเอ็มและไครสเลอร์ เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง โดยชาวอเมริกันส่วนใหญ่มองว่า รัฐบาลกำลังนำเงินงบประมาณของชาติไปสนับสนุนบริษัทต่างๆ รวมถึง อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (เอไอจี) ที่มีส่วนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับวิกฤตการณ์
นักวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส กล่าวว่า การที่รัฐบาลสหรัฐเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่มากขึ้นในจีเอ็มทำให้เกิดคำถามตามมาว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ อาทิ มาตรการภาษีที่จะใช้กระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อรถใหม่แทนรถเก่า รวมถึงการสนับสนุนเทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลสรัฐฯ ลงทุนในจีเอ็ม และไครสเลอร์ ก็อาจจะออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อค่ายรถยนต์ทั้ง 2 แห่ง ขณะที่บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ก็จะเสียประโยชน์จากการที่ไม่ได้ขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล