รถไฟฟ้า "บีทีเอส" เตรียมออกหุ้นกู้ 1 หมื่นล้าน ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ เพื่อรีไฟแนนซ์ ก่อนนำหุ้นเข้าจดทะเบียนใน ตลท.ปลายปีนี้ "คีรี" ยอมรับ การเปิดเดินรถไฟฟ้า 2 สถานี กรุงธน-วงเวียนใหญ่ ต่อจากสถานีสะพานตากสิน ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร วันนี้ ถือว่ามีความหมายกับ "บีทีเอส" เป็นอย่างมาก
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฎิบัติการ บริษัท ระบบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า บริษัทจะออกหุ้นกู้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทภายในไตรมาส 2 ปี 2552 เพื่อนำไปรีไฟแนนซ์หนี้ที่มีอยู่จำนวน 1 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นคาดว่าจะสามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ประมาณปลายปีนี้ ซึ่งเชื่อว่าภาวะตลาดจะเอื้ออำนวย
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บีทีเอส กล่าวว่า บริษัทจะออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 15% ของทุนจดทะเบียนเสนอขายกับประชาชนทั่วไป (IPO) โดยปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 1.06 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะระดมทุนเพื่อนำไปลงทุนรถไฟฟ้าเพื่อการเดินรถส่วนต่อขยายเป็นหลัก
"เรามีความหวังว่า ในไตรมาส 4 นี้น่าจะเข้าตลาดได้ ตอนนั้นตลาดโลกคงดีขึ้น เพราะเชื่อว่า ตลาดหุ้นมีขึ้นมีลง คงไม่ตกไปตลอดทั้งปี ซึ่งมองว่า ปลายปีนี้ ภาวะตลาดจะดีขึ้นนอกจากนี้ บริษัทเตรียมที่จะเข้าบริหารเดินรถไฟฟ้าในต่างประเทศ 2 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากันอยู่"
นายคีรี มั่นใจว่า การเปิดเดินรถไฟฟ้า บีทีเอส เพิ่มอีก 2 สถานี คือ กรุงธน-วงเวียนใหญ่ ต่อจากสถานีสะพานตากสิน ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นเที่ยวต่อวัน จากปัจจุบันที่มีผู้โดยสาร 4.5-4.7 แสนเที่ยวต่อวัน โดยบางวันขึ้นไปสูงสุดที่ 5.7 แสนเที่ยวต่อวัน คาดว่าปี 2552 บริษัทมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มไม่ต่ำกว่า 5% ส่วนรายได้คาดว่าจะเติบโต 3-4% จากปีก่อน
"ยอมรับว่า วันนี้มีความหมายกับ บีทีเอส เป็นอย่างมาก ที่ได้เดินรถอีก 2.2 กิโลเมตร และได้รับความมั่นใจจากประชาชนหลักหมื่น เราหวังว่าจะได้เดินรถในส่วนต่อขยายอื่นด้วย"
หลังจากนี้ บีทีเอสจะเจรจากับทางกรุงเทพมหานครในการเดินรถส่วนต่อขยาย อ่อนนุช-แบริ่ง หมอชิต-สะพานใหม่ และวงเวียนใหญ่-เพชรเกษม ซึ่งคาดว่าจะใช้หลักการเดียวกับการเดินรถช่วง 2 สถานีสะพานตากสิน คือ กรุงเทพมหานครจะใช้วิธีจ้าง ไม่ใช่การให้สัมปทาน
สำหรับช่วงต่อขยายสะพานตากสิน กรุงเทพมหานครจ้างในระยะเวลา 28 เดือนเป็นจำนวนเงินประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งยังเก็บค่าโดยสารในกรอบเดิมคือ 15-40 บาทต่อเที่ยว แต่ในอนาคตหากบริษัทเดินรถเพิ่มมากกว่า 10 กม.ก็อาจจะขอปรับขึ้นค่าโดยสาร ส่วนรถไฟฟ้าที่บริษัทลงทุนเพิ่ม 12 ขบวนจากจีน จะเริ่มทยอยเข้ามาในเดือนตุลาคม 2552 นี้
นายคีรี กล่าวว่า บีทีเอสจะเดินรถสายสีเขียวเป็นหลัก ซึ่งเห็นว่าการที่กรุงุทพมหานครเจรจาให้บริษัทเดินรถก็จะทำได้เร็วกว่าการเปิดประมูล โดยคาดว่าไม่เกิน 2 ปีก็จะเดินรถส่วนขยายสายสีเขียวได้ อย่างไรก็ดี หากรถไฟฟ้าสายอื่นเปิดประมูลเดินรถ ก็ขอดูเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ก่อนตัดสินใจ
ด้านการดำเนินการตั๋วร่วม ซึ่งได้ตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัท สมาร์ทการ์ด โดยเบื้องต้น บีทีเอสจะถือหุ้น 100% และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL จะเข้าร่วมทุน โดยบีทีเอสเข้าถือหุ้นใหญ่ และคาดว่าจะใช้ตั๋วร่วมได้ในต้นปี 2553
ทั้งนี้ ผลประกอบการของบีทีเอส งวดปี 2551 (สิ้นสุด 31 มีนาคม 2552) มีรายได้จากการขายตั๋ว 3.3 พันล้านบาท EBITDA จำนวน 1.2 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกำไรจากการฟื้นฟูกิจการ
ส่วนแผนงานบริษัทในปีนี้ ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 4.2 แสนเที่ยวต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 3.72 แสนเที่ยวต่อวัน โดยวันธรรมดา จะมีผู้โดยสาร 4.3 แสนเที่ยวต่อวัน ส่วนรายได้ ตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 5-6% จากปีก่อน และ EBITDA ประมาณ 2 พันล้านบาท