xs
xsm
sm
md
lg

บ้านปูโตสวนศก. กำไรQ1พุ่ง130% โบรกฯแนะ“ซื้อ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ้านปู กำไรสุทธิไตรมาสแรกรวมเกือบ 4.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 130% รับอานิสงส์ราคาถ่านหินพุ่ง แม้ปริมาณขายจะลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรขั้นต้นเพิ่มเป็น 53% ด้านนักวิเคราะห์ ประสานเสียง ผลงาน “บ้านปู” ดีกว่าคาดการณ์ พร้อมแนะนำให้ซื้อ หลังปรับราคาเป้าหมายใหม่ ขณะที่ราคาหุ้นวานนี้ปิดที่ 314 บาท บวก 3 บาท

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 ว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 4,797.54 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 17.65 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 2,073.95 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 7.63 บาท โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 2,723.59 ล้านบาท หรือคิดเป็น 131.32%

ทั้งนี้ บ้านปูมีรายได้จากการขายรวม 13,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 4,987 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58% จากราคาขายถ่านหินที่เพิ่มขึ้น โดยสามารถแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายถ่านหิน 12,343 ล้านบาท คิดเป็น 91% ของรายได้จากการขายรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4,808 ล้านบาท หรือ 64% ขณะที่รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ 1,269 ล้านบาท คิดเป็น 9% ของรายได้จากการขายรวม

“ไตรมาส 1/52 แม้ว่าบ้านปูจะได้รับผลกระทบจากปริมาณการขายถ่านหินที่ลดลง จากการหยุดปรับปรุงท่าเรือบอนตัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนถ่ายถ่านหินรวม 1 สัปดาห์ (16-23 ก.พ. 52) และมีการปิดเหมืองในประเทศไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยกลับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 71% มาอยู่ที่ระดับ 84.23 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากปัจจัยหลักๆ คือ การทำสัญญาล่วงหน้าในช่วงที่ราคาถ่านหินในตลาดโลกเพิ่มขึ้น อีกทั้งการขายถ่านหินคุณภาพสูงในสัดส่วนที่สูงขึ้น และจำนวนที่ลดลงของถ่านหินในประเทศไทย”

นายชนินท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรขั้นต้นรวมทั้งสิ้น 7,173 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,325 ล้านบาท คิดเป็น 152% อัตราส่วนการทำกำไรขั้นต้นต่อยอดขายรวม (Gross Profit Margin) สำหรับไตรมาสนี้อยู่ที่ 53% โดยธุรกิจถ่านหินมีอัตราส่วนการทำกำไรขั้นต้น 55% และธุรกิจไฟฟ้ามีอัตราส่วนการทำกำไรขั้นต้น 26%

“อัตรากำไรขั้นต้นจากธุรกิจถ่านหินไตรมาสนี้ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 55% เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 37% และใกล้เคียงกับไตรมาส 4/51 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 56%”

ขณะที่ กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) รวมเท่ากับ 7,080 ล้านบาท ปรับสูงขึ้น 142% และ 13% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าและไตรมาส 4/52 โดยแบ่งเป็น EBITDA จากธุรกิจถ่านหิน 5,623 ล้านบาท (หรือ 79 % ของ EBITDA รวม) และ EBITDA จากธุรกิจไฟฟ้า 1,457 ล้านบาท

สำหรับต้นทุนขายนั้นเพิ่มขึ้น 11% ผลจากต้นทุนผันแปรที่ปรับตามปริมาณขายถ่านหินคุณภาพดี และการปรับการทำเหมืองในระดับความลึก รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวมเพิ่มขึ้น

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากผลการดำเนินงานของบมจ.บ้านปู (BANPU) ไตรมาส 1/52 ที่สามารถทำกำไรสุทธิได้เกือบ 4.8 พันล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 17.65 บาทนั้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ได้ประมาณการไว้ เป็นผลมาจากปริมาณถ่านหินเพิ่มขึ้น โรงไฟฟ้า BLCP ผลการดำเนินงานดีกว่าคาด และการบันทึกกำไรจากการทำประกันความเสี่ยงราคาถ่านหิน รวมถึงรับบันทึกเงินปันผลจากบมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ซึ่งปกติจะรับรู้เข้ามาในช่วงไตรมาส 2

พร้อมกันนี้ ยังได้ประเมินว่า BANPU เป็นหุ้นที่น่าสนใจมากที่สุดในกลุ่มพลังงาน เพราะมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ปริมาณการขายถ่านหินที่เพิ่มมากขึ้น แต่ผลการดำเนินงานของบ้านปู ในไตรมาส 1/52 น่าจะเป็นจุดสูงสุดแล้ว ก่อนจะชะลอตัวในไตรมาสถัดไป แต่ทั้งปีน่าจะโตได้ประมาณ 22% ดังนั้นจึงแนะนำให้ซื้อลงทุน โดยมีราคาเหมาะสมอยู่ที่ 380 บาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนิตี้ ประเมินว่า BANPU มีผลการดำเนินงานดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3,300 ล้านบาท แม้รายได้จากการขายจะลดลงจากไตรมาส 4/51 ที่ผ่านมา แต่ราคาขายยังคงอยู่ในระดับสูงจากสัญญาขายถ่านหิน (ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยไตรมาส 1/52 เท่ากับ 84.23 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) รวมถึงได้ประโยชน์จากการที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง ทำให้ยังสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับสูง

ขณะเดียวกัน BANPU ยังมีเงินปันผลรับจำนวน 239 ล้านบาท และกำไรจากการทำสัญญา Coal swap ถ่านหินที่ทำให้ได้กำไรถึง 794 ล้านบาท รวมถึงได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีกจำนวน 387 ล้านบาท ส่วนธุรกิจไฟฟ้าจาก BLCP กลับมารับรู้ผลกำไรที่ดีอีกครั้ง โดยมีผลกำไรสุทธิจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นจำนวน 923 ล้านบาท

“เราคงจะมีการปรับคำแนะนำใหม่อีกครั้ง แต่เบื้องต้นมองว่าราคาที่เหมาะสม ณ ระดับการซื้อขาย ที่ พีอี เรโช ปี 52 ที่ระดับ 10 เท่า ราคาน่าจะอยู่ที่ประมาณ 340 บาท”

สำหรับความเคลื่อนไหวราคาหุ้น ล่าสุด วานนี้ (12 พ.ค.) ราคาหุ้น BANPU ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นไทย โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 318 บาท ต่ำสุดที่ 313 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 314 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 3 บาท คิดเป็น 0.96% มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 1,405.23 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น