xs
xsm
sm
md
lg

เครดิตบูโรเผยยอดเช็กข้อมูลวูบ แบงก์คุมเข้มปล่อยกู้-สกัดหนี้เน่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครดิตบูโรยอมรับยอดตรวจสอบข้อมูลเครดิตลดลง หลังความต้องการสินเชื่อลดลง และสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้น แต่ลูกค้าบุคคลหันตรวจสอบเครดิตเพิ่มหวังรักษาประวัติเครดิตดี เผย ยอดผิดนัดชำระเกิน 90 วันของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 5% ขณะที่บัตรเครดิตมี 7% แต่เชื่อระดับเอ็นพีแอลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังเป็นระดับที่สถาบันการเงินรับได้ หลังมีความตื่นตัวในการคุมเข้มสินเชื่อบุคคลมากขึ้น

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า ในปัจจุบันยอดการตรวจสอบข้อมูลเครดิตได้มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวที่ทำให้ปริมาณการขอสินเชื่อมีลดลง รวมถึงยอดการอนุมัติสินเชื่อที่ลดลงจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ โดยในช่วงต้นปี 2551 นั้นได้มียอดการตรวจสอบข้อมูลเครดิตอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านรายการต่อเดือน และในช่วงไตรมาสสี่ปีที่ผ่านมา มียอดการสืบค้นข้อมูลเครดิตลดลงเหลือ 9แสนรายการต่อเดือน และไตรมาสแรกของปี 2552 มียอดการสืบค้นข้อมูลเครดิตเหลือ 7แสนรายการต่อเดือน

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิ 68.5 ล้านบาท จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ในอัตรา 2.50 บาทต่อหุ้น และในปี 2552 นี้ ได้ตั้งเป้ากำไรเอาไว้ที่เดิม แต่หากเลวร้ายที่สุดกำไรก็จะต้องไม่ลดลงต่ำกว่า 10% จากฐานกำไรในปีที่ผ่านมา โดยในปีที่ผ่านมามีรายรับอยู่ที่ 226 ล้านบาท

“ณ สิ้นไตรมาสแรก มีจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการสืบค้นข้อมูล ทั้งสิ้น 17.81 ล้านราย มีการสืบค้นข้อมูลเครดิต 61.93 ล้านบัญชี แบ่งเป็นบุคคลธรรมดา 17.52 ล้านราย คิดเป็น 58.6 ล้านบัญชี ลูกค้าเชิงพาณิชย์ 0.29 ล้านราย คิดเป็น 3.32 ล้านบัญชี เฉลี่ยไตรมาสแรกลูกค้ามีการสืบค้นข้อมูลเครดิตเฉลี่ย 7แสนรายการต่อเดือน สำหรับจำนวนบุคคลที่เข้าตรวจสอบเช็คข้อมูลเครดิตของตัวเองในไตรมาสแรกนั้นได้มีทิศทางเพิ่มขึ้น มาเป็น 14,000 รายต่อเดือน จากเดิมอยู่ที่ประมาณกว่า 10,000 รายต่อเดือน แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสำคัญกับการรักษาประวัติการชำระสินเชื่อมากขึ้น”

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า จากการทางเครดิตบูโร ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพหนี้ของสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต พบว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีอัตราการผิดนัดชำระเกิน 90 วัน มีอยู่ประมาณ 5% ของยอดสินเชื่อรวมประมาณ 8 แสนล้านบาท จากจำนวน 7.7 ล้านบัญชี ในขณะที่ยอดอัตราการผิดนัดชำระของยอดสินเชื่อบัตรเครดิต อยู่ที่ 7% จากยอดสินเชื่อ 2.1 แสนล้านบาท จากฐานบัตรเครดิต 12.3 ล้านบัญชี จากจำนวนผู้ถือบัตรเครดิตทั้งสิ้น กว่า 4 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้ถือบัตรเครดิตไม่เกิน 5 บัตร ต่อคน อยู่ที่ 86% คิดเป็น 3.5 ล้านคน คนที่มีบัตรเครดิต 10 บัตรขึ้นไปมีแค่ 1แสนคน คิดเป็น 2.5%ของจำนวนบัตร แต่หากคิดที่มีบัตรเครดิตต่ำกว่า 10 บัตรแล้วมี 97.45% ของจำนวนผู้ถือบัตร

ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นมี จำนวนคนที่มีอัตราการผิดนัดชำระไม่เกิน 90 วัน นั้นยังมีสูงอยู่กว่า 96% ซึ่งเรื่องนี้สถาบันการเงินได้มีการตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล ได้มีการส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม สำหรับสินเชื่อที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระดับปัจจุบันถือว่ายังเป็นระดับที่สถาบันการเงินยังรับได้ เนื่องจากมีสเปรดอยู่ในอัตราที่สูงอยู่

นอกจากนี้ แล้วแนวทางของเครดิตบูโร ก็ได้เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจสอบข้อมูลเครดิตได้ง่ายขึ้น โดยเปิดโอกาสให้กับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับใบคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้อนุมัติมา แต่ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ต้องมาดำเนินการกับเครดิตบูโร เกี่ยวกับข้อปฏิบัติต่างๆ ก่อนที่จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปใช้บริการได้ จากปัจจุบันที่มีเพียง ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ทำหน้าที่ดังกล่าว โดยยังคงคิดค่าบริการ 100 บาท ต่อครั้งเหมือนเดิม

“เครดิตบูโรก็ได้มีการปรับปรุงระบบให้สถาบันการเงินนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น โดยได้นำระบบเครดิตสกอร์ริ่ง หรือ คะแนนเครดิต มาใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือให้กับสถาบันการเงินนำไปใช้วิเคราะห์สินเชื่อได้แม่นยำมากขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น