xs
xsm
sm
md
lg

แฉปม “ล็อกซเล่ย์-คิงเพาเวอร์” ฮุบสัมปทาน ทอท.เขี่ยทิ้ง “แท็กส์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร “แท็กส์” แฉเบื้องลึก ทอท.ยกเลิกสัญญารถเข็น เป็นแผนจัดสรรผลประโยชน์ทุนการเมืองเปลี่ยนขั้ว เดินเกมเปิดประมูลใหม่ แนะจับตา “ล็อกซเล่ย์-คิงเพาเวอร์” เดินแผนชิงไหวชิงพริบ หวังฮุบส่วนแบ่งสัมปทานในสนามบิน ขณะที่ บอร์ด ทอท.เสียงแตก ผลประโยชน์ยังไม่ลงตัว

นายลาดหญ้า อูริยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยแอร์พอร์ตส์ กราวนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด (แท็กส์) กล่าวถึงกรณกระแสข่าวที่คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.มีมติให้ยกเลิกสัญญาณรถเข็นกระเป๋าในสนามบิน และสั่งให้ฝ่ายบริหารให้เตรียมเปิดประมูลใหม่นั้น ถือว่า ทอท.ไม่จริงใจในการแก้ปัญหา

“เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา แท็กส์ได้ส่งมอบแผนจัดหารถเข็นใหม่ให้กับ ทอท.แต่กลับได้รับแจ้งจาก ทอท.ว่า แผนจัดหารถเข็นไม่สมบูรณ์ และนำมาสู่การบอกเลิกสัญญา แสดงให้เห็นว่า ทอท.ไม่จริงใจในการเยียวยาปัญหานี้”

นายลาดหญ้า ยืนยันว่า หากได้รับหนังสือยกเลิกสัญญาจาก ทอท.แท็กส์จะดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ไต่สวนคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราว ในทันที เพื่อให้แท็กส์สามารถเปิดให้บริการ และจะฟ้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าปรับที่แท็กส์ถูก ทอท.เรียกค่าเสียหาย 2,000 ล้านบาท และค่าเสียโอกาสของแท็กส์ที่เกิดขึ้น

“กรณีที่ ทอท.เรียกค่าปรับถึง 2,000 ล้านบาท แท็กส์ มั่นใจว่า จะไม่เกิดขึ้น และเชื่อว่า ศาลจะให้ความเป็นธรรมในเรื่องนี้ เนื่องจากมูลค่าของค่าปรับสูงกว่าสัญญา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะแท็กส์มีสัญญาอยู่กับ ทอท.ในสัญญาดังกล่าวอยู่ 7 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2556 วงเงิน 532.8 ล้านบาท หรืออัตราค่าจ้างที่ 6.3 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น

นายลาดหญ้า กล่าวเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจยกเลิกสัมปทานแท็กส์ เชื่อว่า จะส่งผลเสียหายต่อ ทอท.ทั้งสิ้น ไม่ว่าแท็กส์จะแพ้หรือชนะคดีก็ตาม เพราะหากแท็กส์แพ้คดี ทอท.ซึ่งถือหุ้นอยู่ในแท็กส์ 28.5% ก็ต้องร่วมรับผิดชอบชดเชยค่าเสียหาย ทั้งยังกระทบต่อรายได้จากการลงทุนของ ทอท.ในแท็กส์ เพราะที่ผ่านมาแท็กส์ก็ได้ปันผลให้กับ ทอท.ไปแล้วกว่า 485 ล้านบาท

ขณะที่มีกระแสข่าวลือสะพัดว่า การประชุม บอร์ด ทอท.ที่มีมติยกเลิกสัญญาจัดหา และให้บริการรถเข็นในสนามบินสุวรรณภูมิ มีกรรมการบางส่วนไม่เห็นด้วย ซึ่งผลสรุปจากคณะอนุกรรมการที่มี นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ เป็นประธาน เสนอทางออกไว้ 3 ทาง ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าน่าจะเลือกแนวทางที่ให้แท็กส์จัดหารถเข็นให้ครบตามสัญญาจะเหมาะสมที่สุด เพื่อเลี่ยงปัญหาฟ้องร้องระหว่างกัน

โดยทั้ง 3 ทางออก ได้แก่ แนวทางแรก ยกเลิกสัญญา จัดหาผู้บริการรายใหม่ ซึ่งมีข้อเสียคือ อาจทำให้เกิดข้อพิพาทฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและคดีทางปกครองตามมา แนวทางที่ 2 ให้แท็กส์ให้บริการรถเข็นตามจำนวนรถที่เหลืออยู่ ส่วนที่ขาดจ้างรายใหม่ หรือ ทอท.ทำเอง แต่แนวทางนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะสัญญาไม่เปิดช่องให้ปรับแก้ไข และแนวทางสุดท้ายคือ ให้แท็กส์ให้บริการรถเข็นต่อไป แต่ต้องจัดหารถเข็นให้ครบตามจำนวน เพื่อหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องกัน

ขณะที่ฝ่ายบริหาร ทอท.ยอมรับว่า อยู่ระหว่างวางแผนการเตรียมเปิดประมูลทั่วไป เพื่อจัดหารถเข็นกระเป๋าแบบใหม่จำนวน 9,034 คันเพื่อนำมาให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ คาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน โดยในขณะนี้มี 3 บริษัทเอกชนที่แสดงความสนใจ ได้แก่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เสนอรถเข็นกระเป๋ายี่ห้อ Expresso ของเยอรมนีแต่ผลิตในประเทศจีน ผู้แทนของบริษัท Wanzle (แวนเซล) และผู้ผลิตรถเข็นกระเป๋าที่ผลิตจาก Wuhan Chuang Yuan ประเทศจีน

ส่วนบริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัด ของนายวิชัย รักศรีอักษร แม้จะยังไม่ได้ยืนยันเจตนาที่ชัดเจน แต่มีข้อมูลว่า น่าจะให้ความสนใจเนื่องจากเป็นเจ้าของสัมปทานรายใหญ่ในสนามบินสุวรรณภูมิและยังมีสัญญาโฆษณาบนรถเข็นกระเป๋าอยู่ด้วย ซึ่งทอท.ต้องเปิดประมูลว่าใครจะเสนอราคาให้ต่ำสุดก็จะพิจารณารายนั้น

“ในส่วนสัญญาการโฆษณาบนรถเข็นกระเป๋าที่ ทอท.มีอยู่กับคิงเพาเวอร์เป็นเวลา 5 ปีและเพิ่งผ่านมา 2 ปีนี้ หากคิงเพาเวอร์เข้ามาร่วมและชนะการประมูล ก็คงไม่มีปัญหา เพราะสามารถดำเนินการต่อได้หรือหากไม่ชนะการประมูล ทอท.ก็ต้องเจรจากับคิงเพาเวอร์ เพื่อให้ดำเนินการโฆษณาบนรถเข็นกระเป๋าโดยขยายอายุสัญญา เพราะที่ผ่านมารถเข็นกระเป๋าของแท็กส์มีจำนวนไม่ครบตามสัญญา ก็ถือว่าผิดสัญญากับคิงเพาเวอร์ด้วยเช่นกัน”

สำหรับการจัดหารถเข็นครั้งใหม่นี้ จะใช้วิธีเดียวกับการจ้างแท็กส์ คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถเข็นใหม่ 9,034 คัน และค่าจ้างแรงงาน ซึ่งอาจจะแพงกว่าจ้างแท็กส์ เพราะได้อุปกรณ์และรถเข็นมีคุณภาพกว่าเดิม ซึ่งกำหนดว่าจะต้องผลิตจากต่างประเทศ ต้องมีการการันตีเรื่องการซ่อมบำรุงจากบริษัทผู้ผลิต และบริษัทที่จะเสนอตัวมารับงานต้องได้รับการรับรองว่าเป็นตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตรถเข็นด้วย

ส่วนประเด็นที่บอร์ด ทอท.มีมติให้ยกเลิกสัญญา โดยพิจารณาจากกรณีรถเข็นกระเป๋าของแท็กส์ที่ไม่ครบจำนวนตามสัญญาทั้ง 9,034 คัน เป็นเหตุให้แท็กส์ผิดสัญญากับ ทอท.นั้น ยืนยันว่า มีทั้งเรื่องของการสูญหาย และรถเข็นชำรุดไม่สามารถให้บริการได้ แม้จะมีหลักฐานการรับมอบรถเข็นของ ทอท.และหลักฐานที่แท็กส์ถูกบริษัท พีทีที แปซิฟิก สตาร์ จำกัด (บริษัทที่แท็กส์ว่าจ้างให้ผลิตรถเข็น) ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่แท็กส์ยังจ่ายเงินไม่ครบรวมดอกเบี้ยวงเงิน 28 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น