“กอร์ปศักดิ์” เกาะติดการอภิปรายร่วม 2 สภา เพื่อหาทางออกให้การเมือง โดยคาดหวังว่าจะมีประเด็นที่เป็นข้อยุติ เพื่อนำไปวางแนวทางการบริหารประเทศได้ พร้อมย้ำ หากปัญหาการเมืองไม่สามารถคลี่คลายได้ และยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยทรุดหนักแน่
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการอภิปรายร่วมกันของ 2 สภา เพื่อหาทางออกของวิกฤตทางการเมือง โดยระบุว่า จากการติดตามการอภิปราย เห็นว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ใช้ความพยายามที่จะจับประเด็นที่เป็นข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสมานฉันท์ร่วมกันทางด้านการเมือง
“ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องให้ความขัดแย้งทางการเมืองได้ข้อยุติจบลงโดยเร็ว ซึ่งหากปัญหายังยืดเยื้อเกินกว่าไตรมาส 2 หรือจนถึงไตรมาส 3 ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจอย่างมาก”
ดังนั้น การประชุมร่วม 2 สภา เพื่อหาทางออกก็ควรจะมีข้อยุติที่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ โดยควรจะมีมาตรการที่มีระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน หรือเป็นสัปดาห์ เพื่อให้สามารถแก้ไขเห็นผล ขณะเดียวกัน สามารถจัดทำแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวที่เรียกว่าโรดแมป อาจใช้ระยะเวลาหลายเดือน เพื่อผ่อนคลายให้ปัญหาหมดไป อย่างไรก็ตาม การประชุม 2 สภาวันสุดท้ายตนจะมีการติดตามการอภิปรายว่าจะมีการร่วมกันว่าจะมีการนำเสนอทางออกปัญหาดังกล่าวที่เป็นประเด็นสำคัญที่จะนำไปปฏิบัติต่อไปได้อย่างไร
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวถึงมาตรการใช้วงเงินงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 2 วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ว่า รัฐบาลจะมุ่งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจไปที่ฟื้นภาคการลงทุนระยะปานกลาง เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายจะต้องสร้างงานไม่น้อยกว่า 1 ล้านอัตรา รวมถึงประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 นี้ จะมีการสรุปแนวทางต่างๆ สิ้นเดือนเมษายน 2552 นี้ ก่อนขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 พฤษภาคม 2552
วันเดียวกันนี้ นายกอร์ปศักดิ์ ปาฐกถาหัวข้อ “กลยุทธ์และนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานความรู้ฝ่าวิกฤติระยะยาว” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยยืนยันว่า เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 นี้จะมีการใช้งบประมาณประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ในการผลิตสินค้าที่ใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายช่วยให้ไทยสามารถพัฒนาสินค้าส่งออกด้านนวัตกรรมเป็นมูลค่ากลับมาไม่น้อยกว่า 5,700 ล้านดอลลาร์ต่อปี