แฉปม “สรรพากร” ทำแผนกระตุ้น ศก.ล้มเหลว เดือน มี.ค.เก็บรายได้หลุดเป้า 1 หมื่นล้าน ส่วนแผนคืนภาษี 1 แสนล้าน เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ และกระตุ้น ศก.ช่วงสงกรานต์ สะดุดไม่เป็นท่า ทั้งล่าช้าและสร้างความสับสน หวั่นเป็นชนวนฉุดรั้ง “จีดีพี” ไตรมาส 2 พลาดเป้า
แหล่งข่าวจากทีมเศรษฐกิจรัฐบาล กล่าวถึงความคืบหน้าแผนการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเงินได้นิติบุคคล เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และเพิ่มกำลังซื้อภาคครัวเรือน ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2552 ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ต้องการเพิ่มเม็ดเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง โดยยอมรับว่า ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะเกิดเหตุจราจลและความไม่สงบในบ้านเมือง
นอกจากนี้ แผนการคืนภาษีก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขั้นตอนของกรรมสรรพากรที่มีความล่าช้า และมีการของคืนภาษีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลได้เพิ่มการหักลดหย่อนจาก 6 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 1.5 แสนบาท ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายคืนภาษีกลับสู่มือประชาชนสูงกว่า 1 แสนล้านบาท และไม่สามารถคืนได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ แม้บางส่วนจะโอนไปยังสรรพากรจังหวัด แต่ก็ติดขัดเรื่องเอกสาร เพราะเป็นการหัก ณ ที่จ่าย เขตสรรพากรส่วนกลาง และกำลังส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ในไตรมาส 2
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึง ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนมีนาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 104,371 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 11,110 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (เดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2552) จัดเก็บได้รวม 559,234 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ ตามเอกสารงบประมาณ 98,277 ล้านบาท เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมหลัก และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าประมาณการ ประกอบกับการคืนภาษีของกรมสรรพากรที่เพิ่มขึ้น ในอัตราที่สูงในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ
ทั้งนี้ การคืนภาษีของกรมสรรพากร ช่วงเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา จำนวน 109,962 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 10,334 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.5) ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าประมาณการ 6,734 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.9 และการคืนภาษีอื่นๆ สูงกว่าประมาณการ 3,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.3
นายสมชัย ยอมรับว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 ที่ต่ำกว่า ประมาณการ 98,277 ล้านบาทนั้น เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง และการดำเนินมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2552 ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ ที่กำหนดไว้ 1,604,640 ล้านบาท
“อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะดูแลฐานะทางการคลังและการบริหารเงินสดของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเบิกจ่ายมีความต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”