xs
xsm
sm
md
lg

ทริสวอนยุติทำเครดิตวูบซ้ำเติมชาติ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ทริส เรทติ้ง” วอนทุกฝ่ายยุติความขัดแย้ง อย่าทำลายประเทศชาติอีก ชี้กรณีประเทศไทยถูกปรับลดอันดับเรทติ้งจากสถาบันจัดอันดับเครดิตขนาดใหญ่ จะต้องใช้เวลาอีก 2-3ปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม ระบุการปิดล้อมประชุมอาเซียนสร้างความเสียหายอย่างหนักสุด มากกว่าปิดสนามบิน ยอมรับเตรียมปรับลดเครดิตบจ.เพิ่มอีก 7 รายในปีนี้ ด้าน “ปตท.”ถูกหวยโดน “ฟิทช์”ปรับลดเครดิตตามประเทศไปด้วย

นายวรภัทร โตธนะเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัททริส เรทติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า สถาบันจัดอันดับเครดิตขนาดใหญ่ของโลก ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหรืออันดับเครดิตของประเทศไทยลง เนื่องจาก ปัจจัยหลักคือปัญหาการเมืองครั้งล่าสุดที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งล่าสุด บริษัทฟิทช์ เรทติ้ง ได้ปรับลดอันดับเครดิตพันธบัตรสกุลเงินบาทไทยเหลือ A-จากเดิมA และเงินตราต่างประเทศของประเทศไทย เหลือ BBB จากเดิมBBB+

"การเมืองเป็นปัจจัยหลักที่เป็นตัวชี้เครดิตของประเทศ และจากปัญหาในครั้งนี้มีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุน และความสามารถการชำระหนี้ของรัฐบาล ซึ่งส่วนตัวผมขอวอนทุกฝ่ายอย่าทำลายประเทศชาติอีก โดยการปรับลดเรทติ้งนั้นจะกระทบความเชื่อการลงทุน"นายวรภัทร กล่าว

ทั้งนี้เชื่อว่าฟิตเรทติ้งจะมีการคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยอยู่ที่BBBต่อเนื่องไปอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แต่ระหว่างนั้นอาจมีการปรับมุมมองบ้าง เพราะการให้อันดับเครติตนั้นจะให้ในระยะยาว ซึ่งเห็นจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีปัญหาปัญหาทางการเมืองมาต่อเนื่อง และมีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงปลายปีทีผ่านมานั้น สถาบันจัดอันดับเครดิตทุกแห่ง ก็ยังคงก็ยังคงอันดับเครดิตของไทยอยู่ที่ BBB+เพิ่งจะมาปรับลดจากการชุมนุมที่มีการปิดล้อมโรงแรมที่ประชุมผู้นำอาเซียน+3และ+6 จนรัฐบาลต้องเลื่อนการประชุมออกไป ลุกลามไปจนกระทั่งมีการปิดถนนและมีการใช้ความรุนแรงต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่บริษัท แสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ หรือ (เอสแอนด์พี)จะมีการปรับลดดอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลไทยที่ยังคงอยู่อันดับBBB+ จากเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมาที่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตพันธบัตรสกุลเงินบาทของไทยลงไปแล้วเช่นกันเหลือ A- หากเศรษฐกิจไทยยังถูกสั่นคลอนจากการเมืองอยู่ ก็มีความเป็นไปได้สูง

ขณะที่ มูดี้ส์อินเวสเตอร์ เซอร์วิส แม้จะยังไม่ได้ปรับลดอันดับเครดิต แต่หลังเกิดเหตุรุนแรงทางการเมืองล่าสุด วันที่ 13เม.ย. ได้ออกมาระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะปรับลดอันดับเครดิตของไทยลง ซึ่งหากถูกปรับลดจะกระทบมากกว่าการถูกลดอันดับเครดิตสกุลเงินบาท เพราะการออกไประดมเงินของรัฐบาลและเอกชนไทยส่วนใหญ่จะออกในรูปสกุลเงินต่างประเทศ
 
สำหรับผลกระทบของการถูกปรับลดอันดับเครดิต ดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลไทยรวมทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่จะออกไประดมเงินในต่างประเทศ ทั้งการกู้ยืมเงินและการออกหุ้นกู้หรือพันธบัตรจะมีต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นหรือระดมเงินได้ยากขึ้น เพราะอันดับเครดิตที่ลดลงหมายถึงความน่าเชื่อถือ ในความสามารถการชำระหนี้ที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตที่ถูกปรับลงนี้ ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ลงทุนได้หรือระดับ Invesment Grade ยังไม่ได้เป็นจังก์บอนด์หรือหุ้นกู้ที่ไม่น่าลงทุน ซึ่งจังก์บอนด์จะเป็นอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า BBB-

นอกจากนี้ เอสแอนด์พี และฟิทช์เรทติ้งได้ให้เหตุผลในการลดอันดับเครดิตครั้งนี้ว่า เศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่ปัญหาการเมืองในประเทศที่รุนแรงได้เป็นตัวซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยในระยะกลางและยาวจะถดถอยหรือแย่ลงไปอีก เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่หายไป รวมทั้งความมั่นใจนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นตัวสร้างรายได้เข้าประเทศ ขณะที่ปัจจัยการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ และยังมีความขัดแย้งครุกรุ่น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นระยะๆ ในอนาคต

**จับตา7บริษัทเสี่ยงถูกลดเรทติ้ง**
นายวรภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทริสเรทติ้งได้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจดทะเบียนไทยในช่วงไตรมาส1/52 แล้วจำนวน 4 บริษัท ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง เพราะ ปกติในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1-3 บริษัท แต่ปี2551 ได้มีการปรับลดรวมจำนวน 6 บริษัท

โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ก็มีแนวโน้มที่จะมีการปรับลดเรทติ้งบจ.มากขึ้น จากขณะนี้ที่มีบริษัทในกลุ่มเสี่ยงที่ทริสฯมีการจับตาดูอยู่ 5-7 บริษัท ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มน่าวิตกพอควร และกลุ่มที่ยังน่าจะประคองตัวได้

สำหรับบริษัทที่ถูกจับตา 5-7 บริษัทนั้น เป็นบริษัทที่มีการระดมทุนผ่านตั๋วเงินระยะสั้น (B/E)ที่จะครบกำหนดชำระหนี้ ว่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้หรือไม่ เพราะปกติแล้วสามารถที่จะมีการออกตั๋วเงินใหม่เพื่อต่ออายุตั๋วเงินระยะสั้นเดิมที่หมดอายุ แต่ในภาวะปัจจุบันนั้จะสามารถในการต่ออายุตั๋วเงินB/Eค่อนข้างยาก และบริษัทที่กำลังจะครบกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้ รวมถึงบริษัทที่มีกำไรลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลจากการที่ยอดขายปรับตัวลดลงและไม่เป็นไปตามเป้าจากปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้แนวโน้มการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนปีนี้ถือว่าสูงอยู่แม้จะเกิดสถานการณ์การเมืองที่รุนแรงในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา จากนักลงทุนมีความต้องการซื้อที่สูง เพื่อรอรับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก ซึ่งเชื่อว่าปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.5 แสนล้านบาท จากที่ผ่านมาออกปีละประมาณ 1.5-2.5 แสนล้านบาท โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาบริษัทเอกชนได้มีการออกหุ้นกู้ไปแล้ว 7.8 หมื่นล้านบาท

**ฟิทช์ลดเครดิตไทยสู่BBB**
สถาบันจัดอันดับเครดิตฟิทช์ เรทติ้ง ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวลงสู่ระดับ "BBB" จากเดิมที่อยู่ในระดับ "BBB+" และลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศลงสู่ระดับ "A-" จากเดิม "A" พร้อมกันนั้นฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นลงสู่ระดับ F3 จากเดิมที่ระดับ F2 และลดอันดับเครดิต Country Ceiling ลงสู่ระดับ "BBB+" จากระดับเดิมที่ "A-" อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ประกาศทบทวนแนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยเป็น มีเสถียรภาพ จากเดิม เป็นลบ

ทั้งนี้ การลดอันดับเครดิตครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะความน่าเชื่อถือที่ถดถอยลงของประเทศไทยซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขเหตุการณ์จลาจลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยยืดเยื้อและผันผวนมากขึ้นไปอีก
"ผลกระทบสะสมของภาวะไร้ระเบียบทางการเมืองในประเทศไทยที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า กำลังทำให้ธรรมาภิบาลของไทยอ่อนแอลงในเชิงโครงสร้าง อีกทั้งยังสั่นคลอนสิทธิอำนาจและความน่าเชื่อถือความเป็นผู้นำทางการเมืองของไทยด้วย"

โดยฟิทช์ระบุว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีถูกปฏิวัติโค่นอำนาจ จากนั้นได้เกิดการแบ่งขั้วเลือกข้างมาโดยตลอดเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมประนีประนอม สถานการณ์เช่นนี้ทำให้มองว่าปัญหาการเมืองในประเทศไทยจะยังไม่สามารถแก้ไขได้และคาดว่าเหตุการณ์จลาจลจะยังไม่สงบลงในระยะนี้ ซึ่งวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทยส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 6%ของตัวเลขจีดีพี อีกทั้งยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน
 
นอกจากนี้ ฟิทช์ยังมองว่า ปัญหาด้านการเมืองของไทยจะส่งผลกระทบต่อการใช้นโยบายการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ขณะที่โครงการสาธารณูปโภคระดับเมกะโปรเจ็ก ก็มีความคืบหน้าน้อยมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน
แต่อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่า อันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากสถานะการคลังและสถานะการเงินในต่างประเทศที่แข็งแกร่ง

**ปตท.โดนหางเลขถูกหั่นเครดิตตาม**
นอกจากนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ยังได้ปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เป็น "BBB" จาก "BBB+" อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศเป็น "A-" จาก "A" และอันดับเครดิตสากลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศเป็น "F3" จาก "F2" และได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นมีเสถียรภาพจากแนวโน้มเครดิตเป็นลบ
 
อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) และแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศของปตท.ยังคงเหมือนเดิม โดยมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ที่ "AAA(tha)" แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นอยู่ที่ "F1+(tha)"

ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับลดอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย ทำให้ อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของปตท. ที่ระดับ "BBB" ถูกจำกัดให้เท่ากับอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยเนื่องจากการที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปตท. และการที่ธุรกิจหลักส่วนใหญ่ของปตท. ดำเนินอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยได้ปรับลงมาเท่ากับอันดับเครดิตของปตท.เอง (Stand-alone Rating)
ดังนั้นอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศของปตท.จึงสะท้อนถึงอันดับเครดิตของปตท.เอง ซึ่งไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตของปตท.เอง เนื่องจากการสนับสนุนของรัฐบาลต่อปตท.ในทางอ้อม (Implicit Support)
กำลังโหลดความคิดเห็น