xs
xsm
sm
md
lg

คลังอาเซียนกู้โครงการยักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกฯ ลงพื้นที่พัทยาตรวจความพร้อมสถานที่จัดประชุมอาเซียนซัมมิตแบบทุลักทุเล กลัวม็อบจัญไรรังควาญ "กรณ์" เผยเวทีคลังอาเซียนเห็นชอบผลักดันตั้งกองทุนกู้ยืมลงทุนโครงการขนาดใหญ่คาดได้ข้อสรุป ต.ค.นี้ พร้อมเตรียมสมทบเงินเสริมสภาพคล่อง 4.7 พันล้านเหรียญคาดมีผลทันปีนี้ ยอมรับNPLในระบบเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

บ่ายวานนี้ (9 เม.ย.) ที่โรงแรมรอยัลคลิฟบีท รีสอร์ต พัทยา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ไปตรวจเยี่ยมความพร้อมในการประชุมอาเซียนซัมมิต และประเทศคู่เจรจา และร่วมประชุม ครม.เศรษฐกิจ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างทางที่นายอภิสิทธิ์ เดินทางออกจากกรุงเทพ-พัทยา ตลอดเส้นทางมีการอารักขาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง จำนวน 3 คัน ขับรถประกบขบวนรถนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงตัวเมืองพัทยา ตลอดเส้นทางมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนประจำอยู่ทุกจุด ซึ่งระยะห่างระหว่างแต่ละจุดเพียง 50 เมตร เท่านั้น โดยบริเวณถนนพัทยากลางใกล้บริเวณจุดเกิดเหตุที่นายอภิสิทธิ์ ถูกกลุ่มเสื้อแดงล้อมรถ เมื่อวันก่อนนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่จำนวนหลายกองร้อย เพื่อรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทางที่นายอภิสิทธิ์ เดินทางเข้ามายังโรงแรมฯ
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมรมว.คลังอาเซียน ครั้งที่ 13 ว่า ที่ประชุมได้มีความริเริ่มที่จะจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ซึ่งจะจัดตั้งเป็นกองทุนภายใต้องค์กรพิเศษมีคณะกรรมการกำกับดูแลเพื่อให้มีความสามารถในการระดมทุนจากกองทุนสำรองระหว่างประเทศจากกลุ่มประเทศสมาชิก โดยกองทุนนี้จะเปิดกว้างให้ทุกรัฐบาลสามารถกู้ยืมเงินได้ รวมถึงจะเปิดช่องให้เอกชนของแต่ละประเทศและกลุ่มประเทศ + 3 ซึ่งประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี ที่สนใจเข้ามาร่วมสมทบในกองทุนดังกล่าว
สำหรับวงเงินตลอดจนหลักเกณฑ์ในการใช้เงินกองทุนดังกล่าว เบื้องต้นอาจจะให้แต่ละประเทศใช้เพื่อโครงการใดโครงการหนึ่ง หรือโครงการที่มีความเชื่อมโยงด้านสาธารณูปโภคในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะมีความชัดเจนในการประชุมรมว.คลังเดือนต.ค.นี้ ที่ประเทศเวียดนาม โดยความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นส่วนเพิ่มเติมจากที่ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้การสนับสนุนเงินกู้ที่ไม่มีเงื่อนไขอยู่แล้ว
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีสรุปวงเงินสมทบเพิ่มเติมในกองทุนเสริมสภาพคล่องระหว่างกันซึ่งต่อเนื่องมาจากมาตรการริเริ่มที่เชียงใหม่ โดยในส่วนของสมาชิกอาเซียนได้แบ่งส่วนเงินสมทบ 20% จาก 1.2 แสนล้านดอลลาร์หสรัฐ หรือประมาณ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดย 5 ประเทศใหญ่ซึ่งประกอบด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย จะสมทบในสัดส่วนที่เท่ากัน 4,768 ล้านดอลลาร์ แต่ในเบื้องต้นฟิลิปปินส์ขอสมทบเพียง 3,682 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากเงินสำรองระหว่างประเทศมีน้อยกว่าอีก 4 ประเทศ ซึ่งหลังจากเงินสำรองเพิ่มขึ้นจะเข้ามาสมทบเพิ่มในอัตราที่เท่ากัน ส่วนที่เหลือกระจายในกลุ่ม 5 ประเทศเล็กตามขนาดทุนสำรอง
ส่วนเงินสมทบอีก 80% ของประเทศบวก 3 อยู่ระหว่างตกลงกันเนื่องจากจีนและญี่ปุ่นต้องการสมทบในปริมาณที่มาก ดังนั้นในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ซึ่งจะมีการประชุมรมว.คลังอาเซียนบวก 3 ที่ บาหลี อินโดนีเซีย น่าจะได้ข้อสรุป และจากนั้นหากสามารถตกลงกันได้ก็จะนำไปสู่การเซ็นต์สัญญาร่วมกัน 13 ประเทศ รวมทั้งระดับผู้ว่าการธนาคารกลางในฐานะเจ้าของเงิน และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเงินสมทบกองทุนเกิดขึ้นภายในปีนี้ ส่วนของไทยเองนั้นได้มีการขออนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว

***รับภาวะเศรษฐกิจดันหนี้เสียพุ่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนในช่วงเช้า ว่า ยอมรับว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประทศไทย (ธปท.) ได้ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด และนำข้อมูลกลับมารายงานต่อรัฐบาล แต่เนื่องจากธนาคารยังคงมีเงินทุนรองรับเพียงพอเพื่อที่จะแก้ปัญหา NPL ได้ใน 1-2 ปีข้างหน้า และเพียงพอต่อการสนับสนุนภาคธุรกิจ ส่วนกรณีการเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารนั้นมองว่าสถาบันการเงินไทยยังคงมีเงินหมุนเวียนเพียงพอและมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
นายกรณ์ยังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน ว่า ยังคงไม่ได้มีการพูดคุยประเด็นทางการเมืองของไทย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะสามารถเดินหน้าทำงานได้ ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุม
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะยกระดับการชุมนุม และยืดเยื้อไปถึงช่วงการจัดงานประชุมผู้นำอาเซียน+3+6 นั้น อยากเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมหันกลับมามองว่าการกระทำนั้นส่งผลกระทบต่อภาพรวมและผลประโยชน์ของทั้งอาเซียนที่มีประชากรถึง 560 ล้านคน ซึ่งบุคคลใดที่ขัดขวางการประชุมก็ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบว่าการกระทำนั้นทำขึ้นเพื่อเหตุผลใดรวมถึงต้องพิจารณาถึงผล
กระทบที่จะตามมาด้วย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ควรแก้ปัญหาที่บุคคลนั้น
"ยอมรับว่าปัญหาทางการเมืองมีผลกระทบต่อโอกาสทางธุรกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลให้ประเทศขาดโอกาสในการลงทุน ทั้งนี้ประชาชนชาวไทยก็ต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา".
กำลังโหลดความคิดเห็น