xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งจ้างAYFดูแลเงิน3หมื่นล. จ่อขึ้นแท่นแชมป์ไพรเวทฟันด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอวายเอฟฟุ้ง สถาบันมีชื่อต่างชาติ วางใจให้บริหารเงินกว่า 3 หมื่นล้าน เน้นกระจายความเสี่ยง ลุยหุ้นไทยเป็นหลัก ผู้บริหารเผย ดันมาร์เกตแชร์กองทุนส่วนบุคคลแซงหน้า "กสิกรไทย" ขึ้นเบอร์หนึ่งทันที ล่าสุด เงินทั้งระบบเงินไม่เคลื่อนไหว เหตุตลาดหุ้นยังผันผวน หาทิศทางไม่เจอ พบเดือน ก.พ. เงินไหลเข้าเล็กน้อย 153.60 ล้านบาท ดันทั้งระบบขยับเป็น 146,848.41 ล้านบาท

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด หรือเอวายเอฟ เปิดเผยว่า เร็วๆนี้ สินทรัพย์ในส่วนของกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) ของเอวายเอฟ จะขยับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีสินทรัพย์รวมประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตหลายร้อยเท่า โดยจำนวนเงินลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นดังกล่าว มาจากนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ ซึ่งเป็นสถาบันจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียงพอสมควร ให้ความไว้วางใจให้เราบริหารเงินลงทุนดังกล่าวให้ ซึ่งสถาบันรายนี้เอง ยังไม่เคยให้บริษัทจัดการรายใดในประเทศไทย บริหารเงินให้มาก่อน

ทั้งนี้ เงินลงทุนดังกล่าว จะนำมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นหลัก ซึ่งสถาบันแห่งนี้ มีการลงทุนอยู่ในประเทศไทยอยู่บ้างแล้ว เพียงแต่เป็นการลงทุนผ่านภูมิภาคเท่านั้น แต่ครั้งนี้ เป็นการจ้างบริษัทจัดการกองทุนในประเทศให้บริหารเงินลงทุนให้เป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาลงทุนครั้งนี้ เขาไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมถึงสนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่ก็เชื่อว่าการลงที่ราคาหุ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยปรับลดลงไปค่อนข้างมาก ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจและเลือกเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ใช้กระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน

ทั้งนี้ หากเอวายเอฟได้บริหารเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว จะทำให้เอวายเอฟมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมกองทุนส่วนบุคคลทันที โดยคาดว่าการให้บริหารเงินดังกล่าว จะมีความชัดเจนในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลเปิดเผยตัวเลขเงินลงทุนทั้งระบบกองทุนส่วนบุคคลในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมาว่า มีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 146,848.41 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยประมาณ 153.60 ล้านบาทเท่านั้น จากเงินลงทุนรวมทั้งหมด 146,694.81 ล้านบาทในเดือนก่อนหน้านี้ โดยสาเหตุที่กองทุนส่วนบุคคลไม่มีการเคลื่อนไหวมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากไม่มีการลงทุนใหม่เข้ามา และมีการถอนการลงทุนออกไปบ้างบางส่วน เห็นได้จากจำนวนกองทุนทั้งระบบลดลงจาก 1,148 กองทุนมาอยู่ที่ 1,136 ล้านบาท ประกอบกับภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นเองยังผันผวนต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมทั้งระบบลดลงเป็นส่วนใหญ่

โดยรายงานส่วนแบ่งการตลาด 10 อันดับแรก พบว่า บลจ. กสิกรไทย ยังคงมีสินทรัพย์รวมอยู่ในอันดับ 1 ด้วยเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 34,453.14 ล้านบาท จากจำนวนกองทุนทั้งหมด 280 กองทุน ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าว เป็นจำนวนเงินที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้านี้ 24.89 ล้านบาท อันดับ 2 บลจ.วรรณ มีเงินลงทุนรวม 22,202.02 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนเช่นกัน คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 125.69 ล้านบาท อันดับ 3 บลจ.ทิสโก้ มีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 20,587.54 ล้านบาท ซึ่งบลจ.ทิสโก้ ถือเป็นบริษัทจัดการที่มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในเดือนนี้ ด้วยจำนวนเงินถึง 1,292.72 ล้านบาท จากจำนวนกองทุนทั้งหมด 198 กองทุน

อันดับ 4 บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) มีเงินลงทุนลดลงเล็กน้อย 98.41 ล้านบาท ทำให้สินทรัพย์รวมไม่เปลี่ยนจากเดิมมากนัก โดยมีเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 20,077.37 ล้านบาท อันดับ 5 บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) มีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 14,629.55 ล้านบาท ลดลงประมาณ 468.84 ล้านบาท อันดับ 6 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด ด้วยเงินลงทุนรวม 5,479.53 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นประมาณ 209.59 ล้านบาท อันดับ 7 บลจ.ไทยพาณิชย์ มีเงินลงทุนรวม 4,764.67 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนเช่นกัน โดยคิดเป็นจำนวนเงินที่ลดลงประมาณ 564.53 ล้านบาท สำหรับบลจ.อยุธยา มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ในอันดับ 8 ด้วยเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 4,499.06 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้านี้เล็กน้อย 8.74 ล้านบาท อันดับ 9 บลจ.อเบอร์ดีน มีเงินลงทุนรวม 3,162.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 21.09 ล้านบาท และอันดับ 10 บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เงินลงทุนลดลงเล็กน้อย 77.91 ล้านบาท มาอยู่ที่ 2,908.67 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อถึงภาพรวมการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลว่า ยังคงนิ่งไม่มีการเคลื่อนไหวมากนัก เพราะบรรยากาศการลงทุนยังคงผันผวน โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งแม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับลดลงไปมากกว่ามีมีน้อยแล้ว แต่ด้วยความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่ยังไม่แน่นอนทำให้นักลงทุนบางส่วนยังกังวลและชะลอการลงทุนออกไปก่อน ถึงแม้ว่าราคาหุ้นจะปรับลดลงจนหลายตัวน่าสนใจลงทุนก็ตาม

ก่อนหน้านี้ นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ในขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการกลับเข้ามาลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นหรือมีอะไรที่ผิดไปกว่าเดิม แม้ว่าสัญญาณการลงทุนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศจะดีขึ้นในระดับหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งนี้ เนื่องจากนักลงทุนเองยังระมัดระวังการลงทุนอยู่ และถึงแม้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะเชื่อว่าดาวน์ไซด์ไม่น่าจะมีมาก เพราะดัชนีเองก็ลงมาเยอะ แต่คนก็ยังไม่แน่ใจว่าผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะเยอะแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม หากมองถึงการลงทุนระยะยาวแล้ว จังหวะนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ลงทุนได้ โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีเงินลงทุนยาว 2 ปีขึ้นไปซึ่งสามารถรอได้ เพราะเชื่อว่าปัจจุบัน คนไทยยังมีความมั่งคั่ง ยังมีเงินลงทุนอยู่ แต่มองไปข้างหน้าถึงรายได้และที่มาของเงินในอนาคตแล้ว อาจจะค่อนข้างลำบากและมีความไม่แน่นอน ทำให้หลายคนยังเก็บเงินลงทุนเอาไว้ก่อน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ด้านนายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลมีเข้ามาอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ลงทุนในกองทุสว่นบุคคลส่วนใหญ่ เป็นนักลงทุนรายใหญ่ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนและรับความเสี่ยงได้อยู่แล้ว ซึ่งเราเอง ก็ได้มีการพูดคุยกับลูกค้าเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีปัญหาความไม่เข้าใจกัน ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้เองค่อนข้างไว เพราะถ้าหุ้นตกจะรอดูสถานการณ์ก่อนและเริ่มลงทุน

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่านักลงทุนเหล่านี้ จะไม่ให้น้ำหนักการลงทุนเต็ม 100% เพราะหลายอย่างยังไม่ชัดเจน แต่นักลงทุนก็ไม่ได้หยุดไปซะเลยทีเดียว เพราะทุกอย่างก็ดีขึ้นกว่าเดิมและเริ่มเห็นแสงสว่างบ้างแล้ว จากมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจของประเทศทั่วโลก ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่เองที่มีหุ้นอยู่ในพอร์ต ก็คงไม่ขายหุ้นออกมา เพราะเขาเองคงเสียดาย ซึ่งเขาเองรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ถือว่าเป็นจังหวะดีที่จะทยอยซื้อหุ้นเก็บสะสมเอาไว้ เพราะปัจจุบันตลาดหุ้นไทยเองให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยถึง 5-6% ซึ่งเทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวแล้ว ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.5% ไม่ถึง 4% ทำให้นักลงทุนมองว่า การลงทุนในหุ้นยังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น