xs
xsm
sm
md
lg

คลังอาเซียนตั้งศูนย์เฝ้าระวัง หวังการเงินภูมิภาคเข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางของอาเซียน วางโรดแมพสร้างการเงินอาเซียนให้เข้มแข็งในปี 2015 พร้อมตั้งศูนย์ระวังภัยเศรษฐกิจ

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFDM) ว่า การประชุม AFDM เป็นการประชุมประจำปีของเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางของอาเซียน เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ซึ่งได้พิจารณาจัดตั้งหน่วยงาน Macroeconomic and Finance Surveillance Office (MFSO) ภายใต้สำนักเลขาธิการอาเซียน เนื่องจากหน่วยงานนี้ มีความจำเป็นต่อการพัฒนากลไกการสร้างระบบระวังภัยของภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

โดยที่ประชุมได้วางโรดแมพในการร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคอาเซียน ที่จะมุ่งไปสู่การรวมตัวทางเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 นั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ผลักดันการดำเนินงานใน 3 ด้านได้แก่

1. การพัฒนาตลาดทุนโดยมีการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน และยกเลิกหรือผ่อยคลายข้อจำกัดในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

2. การเปิดเสรีการบริการด้านการเงินอย่างเหมาะสมในสาขาที่มีความพร้อม และ 3. การเปิดเสรีบัญชีทุน โดยสนับสนุน ให้เงินทุนไหลเข้า-ออก เสรีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มี การประสานงานของคณะทำงานที่ดำเนินการใน 3 ด้าน อย่างใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ได้กำหนดให้มีการประชุมในระดับคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน (AFDM Working Group) เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2 ครั้ง จากเดิมที่มีการประชุมเพียงปีละ 1 ครั้ง

ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานการประเมินภาวะเศรษกิจของภูมิภาคอาเซียนสำหรับปี 2009 (ASEAN Surveillance Report 2009) และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ก่อนที่จะนำเสนอรายงานดังกล่าวต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2552

นอกจากนี้ยังเห็นชอบกับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาตลาดทุนสู่การรวมตลาด (Implementation Plan to Promote Development of an Integrated Capital Market to Achieve the AEC Blueprint 2015) ซึ่งเป็นผลการศึกษาของ ASEAN Capital Market Forum (ACMF) เพื่อเป็นการวางแผนวทางเชื่อมโยงและการพัฒนาตลาดทุนของภูมิภาคอาเซียนต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการหารือเพื่อกำหนดท่าทีของฝ่ายอาเซียน สำหรับการเจรจาภายใต้กรอบอาเซียน +3 เพื่อวางแนวทางในการเจรจา และดำเนินการภายใต้มาตรการ ABMI (Asian Bond Markets Initiative) และการลงเงินในกองทุน CMIM (Chiang Mai Initiative Multilaterisation)

ส่วนการจัดงาน ASEAN Investment Day (AID) ในระหว่างวันที่ 2-5 พฤษภาคม 2552 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียในฐานะประเทศเจ้าภาพจะจัดงานดังกล่าว ควบคู่ไปกับการจัดประชุมประจำปีธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 42 (The 42th ADB Annual Meeting) ซึ่งการจัดงาน AID นี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะใช้เป็นเวทีประชาสัมพันธ์ถึงนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และการลงทุน ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ศักยภาพของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยจะเข้าร่วมการจัดงานดังกล่าวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น