xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แนวคิดลดส่งเงินPVD ลูกจ้างส่อเสียประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"พิชิต" แนะ แนวคิดลดส่งเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องคิดให้รอบคอบ เหตุเป็นการเอาผลประโยชน์ระยะสั้น ไปแลกกับผลประโยชน์ในระยะยาวของลูกจ้าง แถมรายรับที่เพิ่มขึ้นก็ไม่มาก ไม่คุ้มกับวินัยทางการเงินที่เสียไป พร้อมแนะรัฐเร่งสร้างงาน บรรเทาปัญหาตกงานควบคู่ไปด้วย ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรม ปัจจัยค่าฟี ยังเป็นเป็นปัญหา แต่อยู่ภายใต้แรงกดดันที่ลูกค้าตำหนิผู้จัดการกองทุน จากผลขาดทุนที่เกิดขึ้นเพราะวิกฤต โดยใช้เป็นข้ออ้างขอลดค่าฟี

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เปิดเผยว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่เห็นชัดที่สุดในขณะนี้มี 3 ปัจจัยด้วยกัน ประการแรกคือราคาหลักทรัพย์ที่ลดลงตามการปรับตัวลงของดัชนีหุ้นไทย ซึ่งความสูญเสียดังกล่าวเป็นไปทั้งอุตสาหกรรม รวมถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการด้วย นอกเหนือจากนั้น ก็เป็นผลกระทบจากการปรับพอร์ตการลงทุนใหม่ โดยเน้นการลงทุนที่มีความระมัดระวังมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงลง ดังนั้น โอกาสที่เงินลงทุนจะเติบโตขึ้นจึงเป็นไปได้น้อย และประการสุดท้าย คือการที่ผู้จัดการกองทุนถูกตำหนิจากผลการดำเนินงานที่ออกมา ไม่ว่าความผิดที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะเป็นเหตุสุดวิสัยก็ตาม

ส่วนผลกระทบจากการปิดกิจการของบริษัทเอกชนนั้น ในขณะนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจจะทำให้เงินสมทบที่ส่งเข้ากองทุนลดลง เพราะการที่เศรษฐกิจชะลอตัว ย่อมส่งผลต่อยอดขายที่ลดลง ทำให้ธุรกิจต้องหยุดไปโดยธรรมชาติ ดังนั้น การตกงานก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากแรงงานเหล่านี้ สามารถหางานใหม่ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวให้ลดน้อยลง ซึ่งภาครัฐเองก็ต้องพยายามทำให้กระบวนการหางานมีต้นทุนที่น้อยลง ซึ่งการเข้ามาสร้างงานก็จะเป็นการช่วยเหลือได้ส่วนหนึ่ง

สำหรับแนวคิดในการลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น นายพิชิตกล่าวว่า ขณะนี้มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวอยู่บ้าง แต่เรื่องนี้คงต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ได้กับต้นทุนในระยะยาว ซึ่งการลดส่งเงินสมทบนั้น เป็นการเอาผลประโยชน์ในระยะสั้น ไปแลกกับผลประโยชน์ในระยะยาวของลูกจ้าง ถึงแม้ว่าในแง่ของนายจ้างเอง อาจจะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลงบ้าง แต่จุดประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เพื่อต้องการให้ลูกจ้างมีเงินออมในระยาว ดังนั้น จึงควรชั่งน้ำหนักด้วยว่า การใช้รายรับของลูกจ้างที่อาจจะเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยมาก ไปแลกกับผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับในระยะยาว คุ้มกันหรือไม่

"จุดประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้มนุษย์เงินเดือน มีเงินออมระยะยาว ซึ่งการที่จะเอาต้นทุนที่ลดลงด้วยการลดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อไปแลกกับผลประโยชน์ระยะยาวของลูกจ้าง ต้องคิดให้รอบคอบก่อน เพราะถึงแม้รายรับของลูกจ้างและนายจ้างอาจจะมีมากขึ้น แต่ก็เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยมาก"นายพิชิตกล่าว

นายพิชิตกล่าวว่า การลดการส่งเงินสมทบดังกล่าว ยังกระทบต่อวินัยทางการเงินในระยะยาวของลูกจ้างด้วย เพราะเป็นการเอาผลประโยชน์ระยะสั้นไปแลกกับผลประโยชน์ระยะยาวของมนุษย์เงินเดือน ซึ่งวินัยทางการเงินนี้ ควรรักษาไว้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ซึ่งสัดส่วนการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบัน กำหนดให้ลูกจ้างสามารถส่งเงินสมทบได้ตั้งแต่ 2-15% แต่สัดส่วนดังกล่าว ต้องไม่สูงกว่าสัดส่วนที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุน เช่น นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 5% ลูกจ้างก็สามารถจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนได้ไม่เกิน 5% เช่นกัน ดังนั้น ถึงแม้จะมีการลดจำนวนการส่งเงินสมทบ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักในแง่ของลูกจ้าง แต่ในแง่ของนายจ่างอาจจะได้ประโยชน์บ้าง

"การส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องบังคับนายจ้างกว่าจะได้มา ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างในระยะยาว ไม่ใช่ลดเพื่อให้นายจ้างได้ประโยชน์"นายพิชิตกล่าว

สำหรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายพิชิตกล่าวว่า ในเรื่องของค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการ (ค่าฟี) นั้น ปัจจุบันยังมีอยู่ แต่ปัจจัยไม่ได้อยู่ที่การแข่งขันลดค่าธรรมเนียมเพื่อดึงลูกค้า แต่เป็นแรงกดดันที่เกิดจากการที่ลูกค้าตำหนิผู้จัดการกองทุน จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้การเรียกร้องเพื่อขอลดค่าฟีมีให้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ ส่วนภาพรวมทั้งอุตสาหกรรม มองว่า คงจะไม่โตมากและจะอยู่ในระดับทรงตัวต่อไป เพราะปัจจุบันเงินลงทุนในพอร์ตส่วนใหญ่ อยู่ในตราสารหนี้ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งทำให้เงินลงทุนในหุ้นลดลงโดยธรรมชาติ ประกอบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเอง ยังทรงตัวลงหนักๆ หรือขึ้นหนักๆ คงไม่มี ดังนั้น โอกาสที่จำนวนเงินจะเพิ่มขึ้นคงเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย

ส่วนเป้าหมายในการขายตลาดของบลจ.เอ็มเอฟซีในปีนี้ จะเน้นขยายฐานลูกค้าบริษัทเอกชนที่ตลาดขยายไปเป็นหลัก ในขณะที่ฐานลูกค้าที่เป็นข้าราชการและกลุ่มรัฐวิสาหกิจ ก็จะเน้นรักษาฐานเอาไว้ ซึ่งในปีนี้ จะเน้นสื่อสารกับลูกค้าทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ ถึงแม้จะอยู่ภายใต้แรงกดดันว่าผู้จัดการกองทุนจะเป็นคนผิดครอบคลุมบรรยากาศอยู่ในขณะนี้ก็ตาม ซึ่งเรื่องดังกล่าว ถือว่าเป็นไปตามธรรมชาติ ที่จะต้องมีการสับเปลี่ยนผู้จัดการกองทุนกันบ้าง แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

นายพิชิตกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบลจ.เอ็มเอฟซี ในส่วนของ Pool Fund มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่ง Pool Fund ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่เป็นประโยชน์กับเอกชนโดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้เองเป็นเป้าหมายของเราที่จะมุ่งไปข้างหน้า ทั้งนี้ บลจ.เอ็มเอฟซี มีการลงทุนแบบ Pool Fund ให้เลือก 3 รูปแบบด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย กองทุนที่ความเสี่ยงต่ำ ด้วยการลงทุนในตราสารหนี้ รูปแบบที่สอง มีการผสมการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนเข้ามาด้วย ซึ่งรูปแบบดังกล่าว ได้รับการตอบรับค่อนข้างมาก และรูปแบบที่ 3 มีการผสมการลงทุนในหุ้นเข้าไปด้วย แต่สัดส่วนจะไม่เกิน 20% โดยปัจจุบันกองทุน Pool Fund มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,000 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดในพอร์ต 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท มีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับ 12-15% ต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น