สสส.ปิ๊งไอเดียสุดกรีน ดึงตลาดสีเขียวขึ้นชั้นบนสุดตึก SM Tower ย่านสนามเป้า จุดประสงค์เพื่อกระตุ้นมนุษย์เงินเดือนให้ใส่ใจสุขภาพแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปิดตัวสัปดาห์แรก แม้พื้นที่ไม่มาก แต่สินค้าก็น่าสนใจหลายรายการ ซึ่งกิจกรรมดีๆ นี้จะจัดทุกๆ วันจันทร์ของสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน ด้านรอง ปธ.กก.สายใยแผ่นดิน ระบุ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่กระตุ้นคนเมือง แต่อาจะไม่คุ้มในเชิงธุรกิจ ในขณะที่นักวิชาการ ระบุ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุน
วันนี้ (2 มี.ค.) ที่บริเวณลานกิจกรรมชั้น 35 อาคารเอ็ส เอ็ม ทาวเวอร์ สนามเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายตลาดสีเขียว ได้ร่วมกันจัดงาน “ตลาดเขียวบนตึกสูง” ขึ้น โดยการนำผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์มาวางขาย อาทิ นมวัวจากฟาร์มนมอินทรีย์ น้ำมังคุดอินทรีย์ ข้าวกล้องอินทรีย์ ไข่ไก่จากฟาร์มไก่อินทรีย์ ผักและน้ำสลัดเกษตรอินทรีย์ รวมถึงอาหารสีสันสดใสน่ารับประทานอย่าง “เมี่ยงดอกไม้อินทรีย์” เป็นต้น เพื่อหวังกระตุ้นและส่งเสริมให้คนเมือง โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจ นายจ้าง รวมไปถึงมนุษย์เงินเดือนที่อาศัยและทำงานอยู่ในอาคารสูง ได้มีโอกาสใส่ใจต่อการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของตนเอง โดยกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากวันนี้จะเป็นวันเปิดตัวตลาดเขียวบนตึกสูงเป็นวันแรก ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่และพนักงานที่ทำงานในอาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ รวมไปถึงสื่อมวลชนแขนงต่างๆ แล้ว ในการณ์นี้ ทางสสส.ยังได้จัดเสวนาเรื่อง “ตลาดเขียว เกษตรอินทรีย์ และวิถีผู้บริโภคคนเมือง” อีกด้วย
โดยนายธวัชชัย โตสิตระกูล รองประธานกรรมการมูลนิธีสายใยแผ่นดิน กล่าวตอนหนึ่งถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า โดยส่วนตัวแล้วทำงานด้านเกษตรอินทรีย์มานับสิบปี ก็มีประสบการณ์การขายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ในระดับหนึ่ง ซึ่งหากเท้าความไปในช่วงพ.ศ. 2536 พบว่าในยุคนั้นร้านค้าประเภท Green Shop ที่ขายสินค้าประเภทดังกล่าว มีมากกว่าในยุคสมัยนี้
“ผมเคยส่งของให้ร้านเฉพาะในกรุงเทพฯ ราวๆ 60 ร้าน แต่ก็ปิดตัวไปเกือบหมดตอนปี 40 ต้องยอมรับว่ารูปแบบการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไปกินข้าวนอกบ้านมากขึ้น การขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็ขายได้น้อยลง เพราะคนไม่ทำกับข้าว ผมเคยแบกข้าวสารขึ้นลิฟต์เพื่อมาออกงานแบบนี้ เคยไปขายของในงานโอทอป แรกๆ ก็สนุกดีได้ประสบการณ์ แต่เพราะรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป ประกอบกับความไม่เข้าใจและความสับสนของผู้บริโภคทำให้เราขายสินค้าได้ยาก การมาออกร้านอย่างที่ร้านค้าต่างๆ ที่มาวันนี้ ถ้าพูดในเชิงธุรกิจนั้นค่อนข้างที่จะไม่คุ้ม แต่ถ้าในเชิงสัญลักษณ์หรือกระแสผมว่าการจัดงานเช่นนี้ก็น่าจะได้พอสมควร”
ด้านผศ.ดร.โอปอลล์ สุวรรณเมมฆ อาจารย์จากภาควิชาบริหารธุรกิจเกษตร คณะเทคโนโลยีทางการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่าที่ผู้บริโภคไม่เข้าใจและสับสนในตัวผลิตภัณฑ์ก็เพราะมีคำหลายคำที่ใช้เรียกผลิตภัณฑ์ในวิถีเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นผักปลอดสาร ผักไร้สาร ผักปลอดภัยจากสาร หรือผักอินทรีย์
“ทุกวันนี้ลองไปถามผู้บริโภคดูว่า 4 อย่างนี้คิดว่าอะไรปลอดภัยที่สุด ส่วนใหญ่ยังตอบว่า “ผักไร้สาร” อยู่เลย ทั้งที่ความเป็นจริง ผักไร้สารคือผักที่ไร้สารพิษจำพวกยาฆ่าแมลง แต่ในกรรมวิธีการปลูกยังคงให้สารเคมีอยู่ ยังมีคนเข้าใจผิดเช่นนี้อยู่มาก และเห็นด้วยกับคุณธวัชชัยที่เห็นว่าการจัดกิจกรรมเช่นนี้ พ่อค้าแม่ค้าที่นำสินค้ามาอาจจะไม่คุ้มในเชิงธุรกิจ เพราะไหนจะต้องขนสินค้าเข้ามาในกรุงเทพฯ และยอดจำหน่ายก็ยังไม่แน่ว่าจะได้มากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งน่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนหรือดูแลในส่วนนี้ด้วย”
ผศ.ดร.โอปอลล์ กล่าวต่อไปว่า วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป อาศัยอยู่ในตึกสูงแบบคอนโดมิเนียมมากขึ้น การจัดกิจกรรมเช่นนี้จะมีส่วนช่วยให้คนในตึกสูงในเมืองใหญ่ได้กลับไปมองคุณค่าจากอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าพืชผักอินทรีย์เหล่านี้จะมีราคาค่อนข้างสูง แต่อยากให้มองในเชิงของ Fair Trade คือ เกษตรกรต้องใส่ใจกับทุกๆ ผลิตภัณฑ์ที่เพาะขึ้น ต้องให้เวลากับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งขอให้ผู้บริโภคคิดว่าในราคาที่อาจแพงกว่าพืชผักธรรมดานั้น คือ การจ่ายเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้และมีชีวิตที่ดีขึ้น
ในขณะที่นายพฤติ เกิดชูชื่น เจ้าของฟาร์มนมวัวอินทรีย์ “แดรี่โฮม” กล่าวว่า อยากให้มองว่าการจัดกิจกรรมอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์มากหรือน้อย แต่ก็ยังถือว่าสำเร็จ
“ผมอยากให้มองว่าจะได้มากหรือได้น้อย อย่างไรก็ยังได้ เราต้องเริ่มที่เล็กๆ ก่อน ผมทำนมวัว ขายในพื้นที่ของผม คุณทำผักออร์แกนนิค ขายที่นั่นที่นี่ เล็กๆ รวมกันมันก็ใหญ่ได้ นอกจากนี้ ผมยังอยากเน้นว่า Eat Green Eat Local คือกินผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์แล้วยังควรกินแบบที่ปลูกในพื้นที่ท้องถิ่นของตนเองด้วย”