xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนสำรองฯส่อแววนิ่ง-ศก.แย่นายจ้างเมินตั้งเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“รพี” หนุนเปิดทางนายจ้าง-ลูกจ้าง หยุดจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพชั่วคราว เชื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงซบเซาได้ ด้านพอร์ตบลจ.กสิกรไทย ยังไม่มีผลกระทบ ล่าสุด ได้บริหารลูกค้ารายใหญ่กว่า 1 หมื่นล้านบาท ดันมาร์เก็ตแชร์แซงขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งตามแผน ส่วนบลจ.ทิสโก้ ประกาศทวงแชมป์คืน ลั่นปี 52 โตหมื่นล้าน เชื่อลูกค้ายังวางใจ ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรม ประเมินยังน่าหวง นายจ้างไม่พร้อมตั้งกองทุนช่วง ศก.ตกต่ำ แต่ยังหวังทั้งปี ขายตัวได้ 8-10% หากตลาดหุ้นตอบรับข่าวเศรษฐกิจฟื้น

นายรพี สุจริตกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า การหยุดจ่ายเงินสมทบชั่วคราว 1 ปีของนายจ้างและลูกจ้างในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD หรือโพวิเด้นท์ฟันด์) ช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว น่าจะเป็นผลดีต่อนายจ้างและลูกจ้าง เนื่องจากหากนายจ้างไม่อยู่ในสถานะที่สามารถจ่ายเงินสมทบได้จะมีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันไม่ได้เปิดช่องในกรณีนี้เอาไว้ และในทางกลับกันก็จะมีประโยชน์ต่อลูกจ้างด้วยเช่นกัน หากไม่สามารถจ่ายเงินสมทบได้

“เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องดีกับทั้งนายจ้างและลูกจ้างในการช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ฉะนั้นเราต้องถอยออกมาดูภาพรวมว่า จุดประสงค์ของกองทุนนี้ก็เพื่อให้ลูกจ้างไว้ใช้ยามเกษียณ และเป็นกองทุนระยะยาว ซึ่งผลกระทบในปัจจุบันน่าจะเป็นเรื่องในระยะสั้นเท่านั้น” นายรพี กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของ บลจ.กสิกรไทย ขณะนี้พบว่ายังไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก เนื่องจากมีบริษัทสอบถามถึงเรื่องขอลดเงินสมทบเข้ากองทุนเท่านั้น ซึ่งประเภทนี้ไม่มากนัก เพียง 5-6 บริษัทจากลูกค้าถึงกว่า 1,800 บริษัท นอกจากนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทส่วนใหญ่ยังเป็นสถาบันที่มีความั่นคงสูง อย่างรัฐวิสาหกิจ บริษัทจดทะเบียน และบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐ ทำให้ได้รับผบกระทบภาวะเศรษฐกิจไม่มากจนถึงขั้นขอยกเลิกกองทุน

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัคงจะไม่ทำให้ขนาดกองทุนของบริษัทลดลง เนื่องจากกองทุนประเภทนี้จะมีการลงทุนอยู่แล้ว เพียงแต่อาจมีผลกระทบในส่วนของเงินสมทบที่จะเข้ามาใหม่ได้บ้างเท่านั้น แต่เงินสมทบเดิมไม่ได้ถูกนำเงินออกไปหรือยกเลิกกองทุนตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น

นายรพี กล่าวอีกว่า การที่บริษัทสามารถเติบโตเพิ่มมากขึ้นจนเป็นผู้นำด้านสินทรัพย์รวมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริหารอยู่ในปัจจุบัน หลังจากนี้บริษัทคงจะเน้นในเรื่องผลการดำเนินงาน และประสบการณ์ของบริษัท รวมถึงความมั่นคง เนื่องจากเป็นเครือเดียวกับธนาคารกสิกรไทย นอกจากนี้ เชื่อว่า การมี Employee’s choice และ Pool fund น่าจะทำให้คณะกรรมการบริษัทต่างให้ความสนใจบริษัทเรามากขึ้น

“การทำให้สมาชิกกองทุนมีทางเลือกน่าจะดี ซึ่งในปีที่ผ่านมาการลงทุนในหุ้นยิลด์มันต่ำ แต่ถ้าเลือกได้สมาชิกที่คิดว่าหุ้นมันต่ำแล้วก็อาจลงในหุ้น หรือถ้าไม่ชอบหุ้นก็ยังเลือกได้ โดยน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าเป็นซิงเกิ้ลฟันด์อันเดียวเลย” นายรพีกล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของการแข่งขันด้านค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) บริษัทเชื่อว่าการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีต้นทุนในการว่าจ้างผู้จัดการกองทุนที่มีความสามารถและประสบการณ์ และหากนำเรื่องค่าฟีมาแข่งขันกันคุณภาพของการบริหารกองทุนก็จะลดลง และบริษัทเองไม่ต้องการลดมาตรฐานในส่วนนี้ โดยหากระดับของค่าฟีปรับตัวลดลงมากจนบริษัทรับไม่ได้หรือกระทบต่อคุณภาพของกองทุน บริษัทคงจะไม่รับบริหารกองทุนประเภทนี้แน่นอน

ด้าน นางสาวอารยา ธีระโกเมน กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ และประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่า ในส่วนของบริษัทมีลูกค้าที่ต้องการขอหยุดส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่บ้าง ซึ่งทำธุรกิจด้านการผลิต เป็นโรงงาน ขณะที่ผู้ประกอบการที่เป็นสำนักงานทั่วไปยังไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มขนาดสินทรัพย์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกหมื่นล้านบาท เพื่อให้สินทรัพย์กลับไปอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท เท่ากับสิ้นปี 2551 โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมาสินทรัพย์ของบริษัทปรับตัวลดลงเหลือ 5.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุมาจากลูกค้ารัฐวิสาหกิจบางแห่งถอนเงินออกไปให้บริษัทจัดการอื่นดูแลแทน

“ลูกค้าที่เลือกลงทุนแบบ Employee’s choice บ้างส่วนยังกังวลกับสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบัน จึงโยกเงินไปลงทุนในตราสารหนี้กับบลจ.อื่น แต่ลูกค้ารายนี้กำลังจัดตั้งกองทุนหลักหรือมาสเตอร์ ฟันด์และให้บริษัทบริหารจัดการให้ในกลางปี จะทำให้สินทรัพย์ส่วนนี้กลับเข้ามาบริษัท” น.ส.อารยา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของจำนวนนายจ้างนั้นบริษัทยังมียอดสูงสุดถึง 2,000 กว่านายจ้าง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าลูกค้ายังให้ความไว้วางใจบริษัทอยู่

ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมแผนงานที่รุกกลุ่มลูกค้าที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว เพราะเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของบริษัท ซึ่งปี 2551 ที่ผ่านมาผลดำเนินงานของกองทุนค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม จึงเป็นจุดแข็งของบริษัทและจากการพบปะลูกค้าพบว่า ลูกค้าต้องการให้ผู้จัดการกองทุนบริหารแบบไม่หวือหวา แต่ขอให้มั่นคงมากกว่า

นางสาวอารยา กล่าวอีกว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมในปีนี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อาจทำให้ 9 เดือนแรกของปีนี้อุตสาหกรรมคงโตช้าลง เพราะนายจ้างที่ยังไม่เคยจัดตั้งกองทุนก็คงไม่พร้อมที่จะจัดตั้งในภาวะเช่นนี้

“อุตสาหกรรมก็เหนื่อยหากสินทรัพย์ฟากการลงทุนไม่กระเตื้องจะทำให้อุตสาหกรรมในปีนี้โต 5% แต่ถ้าหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในปี 2553 หุ้นก็จะฟื้นก่อนและน่าจะทำให้สินทรัพย์ที่เป็นหุ้นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบโตได้ระดับ 8-10%”นางสาวอารยากล่าว

**กสิกรทวงแชมป์กองสำรองฯเดือน ม.ค.**

รายงานจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 เดือนมกราคม 2552 บลจ.กสิกรไทยปรับตัวขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 1 จากเดิมซึ่งอยู่ในอันดับที่ 5 และมียอดสินทรัพยรวมของกองทุนประเภทนี้มาอยู่ที่ 64,092.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,162.13 ล้านบาท ขณะนี้บลจ.ทิสโก้เดิมอยู่ในอันดับที่ 1 ปรับตัวลงมาอยู่ในอันดับที่ 5 และมียอดสินทรัพย์รวมลดลง 11,239.81 ล้านบาทมาอยู่ที่ 57,286.21 ล้านบาท

ขณะที่อันดับ 2 ยังคงเดิมได้แก่ บลจ.บลจ. กรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีขนาดกองทุน 59,114.73 ล้านบาท และมีสมาชิกจำนวน 91,507 ราย ส่วนอันดับ 3 และ 4 มีการสลับตำแหน่งกันโดย บลจ.ไทยพาณิชย์ ปรับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 มีขนาดกองทุน 58,775.09 ล้านบาทและมีสมาชิกรวม 185,928 ราย และ บลจ.เอ็มเอฟซีปรับตัวลดลงมาอยู่ในอันดับ 4 มีขนาดกองทุน 58,198.47 ล้านบาท และมีสมาชิกจำนวน 175,184 ราย

นอกจากนี้ ยอดการลงทุนรวมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งอุตสาหกรรมพบว่า มีการปรับตัวลดลงประมาณ 1,460.98 ล้านบาท จากเดือนธันวาคม 2551 ที่ 465,296.44 ล้านบาท มาอยู่ที่ 463,835.47 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น