xs
xsm
sm
md
lg

บาทอ่อนค่าต่ำสุดรอบ 2 ปี หลายปัจจัยสะท้อนสถานการณ์ ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผย บาทอ่อนค่าหนัก สัปดาห์ที่ผ่านมา ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี ตามทิศทางเงินสกุลภูมิภาค และแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้า ทั้งบริษัทน้ำมัน และธนาคาร พร้อมแนะจับตาการแทรกแซงของ ธปท. และแงซื้อดอลลาร์ของผู้นำเข้า ในสัปดาห์นี้

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ค่าเงินบาทในประเทศ ร่วงหนักแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี แต่เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายทำกำไรเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงตลาดเอเชีย

อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับมาร่วงลงอย่างหนักในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ และทำสถิติแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี ทั้งนี้ เงินบาทถูกกดดันจากกระแสการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาค ตลอดจนแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากฝั่งผู้นำเข้า โดยเฉพาะบริษัทน้ำมัน ธนาคารต่างประเทศ และนักลงทุนในตลาด Offshore ขณะที่ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงได้รับแรงหนุนในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก

โดยพบว่า เงินบาทร่วงลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปี ที่ระดับประมาณ 36.15 ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยตามแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อทำกำไรในช่วงท้ายสัปดาห์ มายืนที่ระดับประมาณ 36.13 (ตลาดเอเชีย) เทียบกับระดับ 35.69 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552

ส่วนในสัปดาห์นี้ (2-6 มีนาคม 2552) คาดว่า น่าจะมีการทยอยไหลกลับของสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินหลังผ่านสิ้นเดือน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะยังทรงตัวต่อเนื่องใกล้ระดับร้อยละ 1.50 จากปลายสัปดาห์ก่อนหน้าภายใต้ภาวะสภาพคล่องในตลาดเงินที่น่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามและอาจมีผลต่อความเคลื่อนไหวในตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ไทย ได้แก่ การปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงการรายงานภาวะเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2552 ตลอดจนทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และราคาน้ำมันในตลาดโลก

ทั้งนี้ เงินบาทในประเทศอาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 36.00-36.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินบาทอาจยังคงปรับตัวในทิศทางที่สะท้อนความอ่อนแอของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ตลาดคงจะจับตาสัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากฝั่งผู้นำเข้า อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 และแนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาค ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่ควรจับตา ประกอบด้วย ทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ อาทิ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น