เอเชียน วอลล์สตรีต เจอร์นัล – ธนาคารกลางไต้หวันประกาศสายฟ้าแลบ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยทันควัน หลังจากเศรษฐกิจแดนมังกรน้อยถลำสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการแล้ว และอาจถดถอยยาวนานอย่างที่ไต้หวันไม่เคยประสบมาก่อน
ธนาคารลางไต้หวันประกาศ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการปรับลงมาถึงระดับต่ำสุดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานครั้งที่ 7 นับตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว
การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย อันเป็นการส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางจะยังคงรักษานโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปนั้น เกิดขึ้นในทันที หลังจากมีการแถลงเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยของไต้หวัน โดย นาย ซู เหม่ยซือ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, การบัญชี และสถิติของไต้หวันแถลงเมื่อวันพุธ (18 ก.พ.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของไต้หวันประจำไตรมาส 4 ของปี 2551 หดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ถึงร้อยละ 8.36 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อันเป็นการหดตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า ไต้หวันเป็นชาติเอเชียรายล่าสุด ที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว
แถลงการณ์ยังทำนายด้วยว่า เศรษฐกิจจะยังคงหดตัวติดต่อกันถึง 5 ไตรมาส ซึ่งจะเป็น “การถดถอยยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์” ของไต้หวัน อันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลก ที่กำลังย่ำแย่อย่างหนัก จากนั้น จีดีพีจึงจะเติบโตอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี2552
ทั้งนี้ ไต้หวันเคยประสบภาวะถดถอยยาวนานที่สุดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2544 โดยเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่องกัน 3 ไตรมาส
สำหรับจีดีพีไต้หวันตลอดปี 2552 คาดว่าจะปรับตัวลงร้อยละ 2.97 ซึ่งจะทำให้เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับไต้หวันทีเดียว เทียบกับจีดีพีปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.12
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณฯ ยังระบุว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่รวดเร็วเกินคาดได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต,การส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนของไต้หวัน
ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ อินเตอร์เนชั่นแนล ในฮ่องกงชี้ว่า การดิ่งลงของราคาหุ้น และตลาดแรงงานที่อ่อนแอของไต้หวัน ส่งผลให้ไต้หวันแทบไม่มีเครื่องกันชนใด ๆ เมื่อต่างชาติชะลอความต้องการซื้อสินค้าจากไต้หวัน
ทั้งนี้ ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว บริษัทด้านเทคโนโลยีของไต้หวันหลายรายประสบการขาดทุนอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากความต้องการของลูกค้าลดลง
ส่วนในปีนี้ คาดว่าการส่งออกของไต้หวันจะลดลงร้อยละ 20.1 หลังจากปรับขึ้นร้อยละ 3.64 ในปีที่แล้ว ขณะที่การนำเข้าน่าจะดิ่งลงร้อยละ 26.2 สวนทางกับในปีก่อน ซึ่งการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9.84
เมื่อความต้องการสินค้าส่งออกลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น นายจ้างจึงจำเป็นต้องลดการผลิต, ลดพนักงาน และเงินเดือน หรือถึงขั้นปิดโรงงานไปเลย
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 28.07 ในปี2552 ซึ่งหดตัวมากที่สุด นับตั้งแต่เคยมีการหดตัวถึงร้อยละ 32.97 ในปี 2498
ขณะที่อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 5.03 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นอัตราสูงสุด นับตั้งแต่เดือนกันยายน ปี2546 ซึ่งอัตราว่างงานสูงถึงร้อยละ 5.05