xs
xsm
sm
md
lg

จ้างที่ปรึกษาฟื้นบินไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สคร.เห็นชอบแผนคณะทำงานฟื้นฟูTHAI เสนอ สรุปให้้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ประเมินงบการเงินการบินไทยภายใน เม.ย.ก่อนให้ผู้ถือหุ้นพิจารณา ยอมรับเร่งหาแหล่งเงินทุน 6 หมื่นล้าน รองดีดีเผยการบินไทยมีแผนควบคุมรายจ่าย มุ่งบริหารจัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน เพิ่มบริหารจัดการเชิงพาณิชย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิสาหกิจ (สคร.) เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูที่นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาการดำเนินธุรกิจขนส่งทางอากาศ ได้นำเสนอต่อที่ประชุม โดยขั้นแรก เป็นแผนเร่งด่วนที่ต้องจัดหาเงินทุนให้การบินไทยทันที 60,000 ล้านบาท ส่วนจะใช้วิธีการใด อาทิ เพิ่มทุน กู้ยืมสถาบันกองทุน ออกพันธบัตร แปลงมูลค่าสินทรัพย์ฝูงบิน (book value) บางส่วนเป็นเงิน หรืออาจเป็นวิธีอื่นๆ จะเป็นหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งมีความเชี่ยวชาญกว่า ให้เป็นผู้จัดการรายละเอียดทั้งหมด

ส่วนขั้นตอนที่ 2 คณะทำงานฟื้นฟูได้เสนอคลังและกระทรวงคมนาคมจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (financial advisor) วิเคราะห์ตัวเลขประมาณการตามแผนฉบับปรับปรุงทั้งตัวเลขรายได้ ค่าใช้จ่าย กำไรก่อนและหลังหักภาษี ให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนเมษายน 2552 นี้ เพราะจะต้องนำแผนเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2552 พิจารณาอนุมัติ ในวันที่ 22 เมษายน 2552 เพื่อนำไปปฏิบัติอย่างช้าที่สุดไม่เกินเดือนมิถุนายน 2552 นี้

โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ถึงเดือนเมษายน 2552 นี้ การบินไทยกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องหนักที่สุด และมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องได้เงินมาหมุนเวียนในระบบตลอด 2 เดือนนี้อย่างน้อยที่สุด 5,000-6,000 ล้านบาท

สำหรับขั้นตอนที่ 3 หลังจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องอนุมัติจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อจัดทำโครงสร้างและวิธีเตรียมเงินสำรอง 60,000 ล้านบาท เพื่อบรรลุ 2 เป้าหมายใหญ่ คือ เพิ่มกำไรก่อนหักภาษี (EBIDA) จาก 20,000 ล้านบาท ในปี 2552 เป็น 30,000 ล้านบาท ในปี 2553 และ 40,000 ล้านบาท ในปี 2560 เทียบกับ EBIDA ของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ที่มีตัวเลขสูงกว่า 3 เท่า มีกำไรก่อนหักภาษีถึง 60,000 ล้านบาทต่อปี

***บินไทยปรับแนวบริหารน้ำมันเชื้อเพลิง

เรืออากาศโท นรหัช พลอยใหญ่ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2551 บริษัทฯ ประสบกับปัญหาวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จนถึงปัจจุบันเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลง บริษัทฯ จึงต้องดำเนินมาตรการควบคุมและลดรายจ่าย โดยดำเนินโครงการ Fuell Management หรือการบริหารจัดการการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับฝ่ายต่างๆ ในบริษัทฯ และเพิ่มบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิมรายได้ให้แก่บริษัท

"ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน นับเป็นค่าใช้จ่ายที่มีนัยสำคัญในลำดับต้นๆ ของบริษัทฯ ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการ Fuell Management อาทิ การทำการบินที่ช่วยลดการใช้น้ำมัน หรือการลดน้ำหนักบรรทุกเพื่อลดน้ำหนักของเครื่องบินที่มีผลต่อการใช้เชื้อเพลิง ในรอบ 12 เดือน (มกราคม-ธันวาคม 2551) ทำให้อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงต่ำกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 35,497 ตัน ทำให้บริษัทฯ สามารถลดค่าใช้จ่ายรวมได้ต่ำกว่างบประมาณเป็นจำนวนเงิน 955 ล้านบาท" รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่กล่าวและว่า มีการควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการปฏิบัติการบิน (Total Route Expense) จากมาตรการดังกล่าว ทั้งการปรับลดเที่ยวบิน การปรับลดจำนวนนักบินและลูกเรือ รวมทั้งวันพักค้างคืนตามสถานีต่างๆ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2551 ทำให้บริษัทฯ สามารถลดค่าใช้จ่ายรวมได้ต่ำกว่าการคาดการณ์เป็นจำนวนเงิน 605 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น