xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติยอมรับ หนี้เสียบัตรเครดิตแนวโน้มพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยธุรกิจแบงก์ปีนี้ไม่หวือหวานัก ขณะที่แรงกดดันเอ็นพีแอลของระบบแบงก์พาณิชย์เริ่มสูงตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 51 ตอบแปลกเอ็นพีแอลในธุรกิจบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ชี้ อัตราการขยายตัวสินเชื่อรวมปีนี้วูบกว่าปีก่อนที่ขยายตัว 11.4% เหตุการใช้กำลังการผลิตที่ลดลง และคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลก ฝากความหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล หากเวิร์กจริง ทำให้มีความต้องการสินเชื่อที่ดีเพิ่ม ฐานะแบงก์ไทยแข็งแกร่งเพียงพอ พร้อมจะปล่อยสินเชื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 51 ที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์เริ่มมีแรงกดดันสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มขึ้น คือ การผิดนัดชำระหนี้เกิน 1 เดือน แต่ยังไม่ถึง 3 เดือน( Delinquent loan) ที่เข้ากลุ่มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากปัญหาวิกฤตการเงินโลกส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจทั้งต่างประเทศและในประเทศชะลอตัว รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งยอมรับว่าธุรกิจบัตรเครดิตมีเอ็นพีแอลกระเตื้องบ้าง แต่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2551

สำหรับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อโดยรวมในระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้อาจไม่สดใสเหมือนปีก่อนที่มีอัตราการขยายตัวถึง 11.4% เทียบกับปี 2550 ที่มีขยายตัว 4.7% เนื่องจากฐานการปล่อยสินเชื่อปี 2550 ต่ำเมื่อเทียบกับปี 2551 ประกอบกับในช่วงต้นปีราคาสินค้าค่อนข้างสูงตามอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ธุรกิจจำนวนหนึ่งต้องกู้เพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ แต่ความต้องการสินเชื่อของลูกค้าในปีนี้ คาดว่า จะปรับตัวลดลงตามการใช้กำลังการผลิตที่ลดลง และคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่หดตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าได้รับผลจากภาวะเศรษฐกิจโลก

“กำไรของแบงก์พาณิชย์ขึ้นอยู่กับการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งหากปีนี้การปล่อยสินเชื่อไม่ดีเหมือนปีที่ผ่านมา แบงก์ก็ควรพยายามไม่ให้เกิดต้นทุนจากหนี้เสียเพิ่มขึ้น เพราะหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอาจเข้าไปกินทุนและกำไรได้ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้แบงก์พาณิชย์ไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อ และหันมาเร่งระดมเงินฝาก ซึ่งให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วแบงก์จะปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพราะมีต้นทุนจากการดำเนินงานในด้านต่างๆ รวมถึงภาระดอกเบี้ยจ่ายเหล่านี้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า มาตรการเข้ามาค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ของภาครัฐจะออกมาเร็วๆ นี้ เนื่องจากได้มีการหารือร่วมกันทั้งธนาคารพาณิชย์ในระบบ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธปท.และกระทรวงการคลังอย่างสม่ำเสมอ และต่างพยายามไม่ให้รูปแบบที่ออกมาไม่มีความซับซ้อน แต่สามารถใช้ได้ผลอย่างรวดเร็ว จึงเชื่อว่า หากไม่มีมาตรการนี้ออกมาอาจทำให้สินเชื่อในระบบโตไม่มากนัก

ดังนั้น ความต้องการสินเชื่อใหม่ของภาคธุรกิจ ขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย ซึ่งหากมีเงินเข้าสู่ระบบได้เร็ว ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในแง่ของความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมและมีเม็ดเงินที่จะปล่อยสินเชื่อ เพื่อหล่อเลี้ยงภาคธุรกิจในระบบ

“แม้ผลจากปัจจัยในและต่างประเทศ ทำให้หลายปัจจัยแกว่งตัวไป แต่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยค่อยข้างนิ่ง เพราะได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงตามเกณฑ์การกันสำรองตามมาตรฐานบัญชีสากล (IAS39) เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2550 เหลือเพียงปัจจัยท้าทายด้านเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากสามารถประคองตัวไปได้ในสิ้นปีนี้ แม้การดำเนินธุรกิจแบงก์อาจไม่หวือหวานัก แต่ก็สามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยดี”

นางสาวนวพร กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2551 พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 9.9 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ย (ROA) ที่ระดับ 1% และหลังจากระบบธนาคารพาณิชย์ไทยประกาศใช้เกณฑ์การดำรงเงินกองทุน (บาเซิล 2) ทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบอยู่ที่ 14.2% จากเดิมในช่วงสิ้นเดือนก.ย.อยู่ที่ 15.7% ส่วนสินเชื่อโดยรวมทั้งปีขยายตัว 11.4% โดยสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัว 10.5% และสินเชื่ออุปโภคบริโภค 14% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

สำหรับเงินฝากหดตัวในช่วง 9 เดือนแรก แต่ในช่วงไตรมาสที่ 4 เริ่มขยายตัวสูงขึ้น 8.6% จากการเร่งระดมเงินฝาก เพื่อเสริมสภาพคล่อง และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ถูกกดดันจากภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกตกต่ำ แต่เมื่อรวมเงินฝากและตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ขยายตัว 9.2% ทำให้อัตราการขยายตัวของเงินฝากและเงินให้สินเชื่อเริ่มโน้มเข้าหากันช่วยให้สภาพคล่องของระบบมีการปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและบี/อีลดลงมาอยู่ที่ 88.3%

นอกจากนี้ หนี้เอ็นพีแอลมียอดคงค้าง 3.97 แสนล้านบาท คิดเป็น 5.3% ลดลงจากสิ้นปี 2550 จำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อหักกันสำรองเรียบร้อยแล้วในระบบธนาคารพาณิชย์จะมีหนี้เอ็นพีแอลสุทธิเหลือ 2.9% ซึ่งเป็นผลจากการรับชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และการตัดหนี้สูญ ประกอบกับธนาคารมีการติดตามและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น