xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ทวงบุญคุณใช้เอ็นจีวีอุ้มภาคขนส่ง กระทุ้งตั้งองค์กรร่วม รัฐ-เอกชน-ผู้บริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีเสวนาวิชาการวุฒิสภาตรวจสอบทุจริตฯ กระทุ้งรัฐฯตั้งองค์กรร่วม 3 ภาค รัฐ-เอกชน-ผู้บริโภค ตรวจสอบการปรับขึ้นค่าก๊าซLPG สางข้อกังขา ปตท. หมกเม็ดข้อมูล จี้ให้ออกข้อบังคับห้ามข้าราชการเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจหรือที่ปรึกษาบริษัทพลังงาน เพราะเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ปตท.ทวงบุญคุณหากไม่มีNGVช่วยภาคขนส่งในยุคน้ำมันแพง ปีที่แล้วไทยต้องนำเข้าLPG เพิ่มขึ้นอีกล้านตัน ยันราคาขายLPGให้โรงงานปิโตรเคมีสูงกว่าราคาที่รัฐอุดหนุนขายให้ประชาชน โดยอิงกับราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ล่าสุดราคาLPGในตลาดโลกดีดตัวขึ้นมาแตะ 500 กว่าเหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้รัฐต้องชดเชยอยู่กก.ละ 2บาท

วานนี้ (12 ก.พ.) คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกลุ่มพลังไท จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “NGV/LPG ทุกข์ของประชาชน ผลประโยชน์ของใคร” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายรุ่งชัย จันทสิงห์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้ก๊าซ LPG ในรถยนต์แห่งประเทศไทย ฉายภาพให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ก๊าซแอลพีจีว่า โครงสร้างการผลิต การนำเข้า ส่งออก ไม่ชัดเจน มีการหมกเม็ดข้อมูลที่แท้จริงมาตลอด ส่วนนโยบายถูกกำหนดโดยหน่วยงานของรัฐและบริษัทเอกชนที่มีผลประโยชน์เป็นหลัก ทั้งยังสร้างความสับสน เช่น ก่อนนี้ตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา รัฐฯสนับสนุนให้รถยนต์ใช้ก๊าซLPGเป็นเชื้อเพลิง แต่ปัจจุบันกลับถูกให้ร้ายว่าเป็นผู้ใช้พลังงานผิดประเภท

ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้ก๊าซฯ ให้ข้อมูลว่า ก๊าซLPGกว่า 60% ผลิตจากโรงแยกก๊าซของปตท. โดยวัตถุดิบมาจากหลุมก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณก๊าซธรรมชาติขึ้นมาจากอ่าวไทย ตกวันละประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วนอีก 40% มาจากโรงกลั่นน้ำมัน ดังนั้น คนไทยจะต้องมีสิทธิ์ใช้ก๊าซในราคาที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมไม่ใช่อิงราคาตลาดโลกเสมอไป การตั้งธงในการกำหนดราคาพลังงานไทยที่อิงกับราคาตลาดโลกทั้งที่ก๊าซส่วนใหญ่ก็ผลิตได้เองในประเทศ จึงเป็นประเด็นที่น่ากังขา

อย่างไรก็ตาม หากจะมีการปรับโครงสร้างราคาก็ควรทำเฉพาะในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ โดยใช้แบบกึ่งลอยตัว ด้วยการนำปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศทั้งจากอ่าวไทยและการกลั่นน้ำมันมาหาค่าเฉลี่ยกับราคานำเข้า และเสนอว่า ต้องมีองค์กรกลางที่ประกอบด้วยผู้แทนหลายภาคส่วนมาควบคุมการขึ้นลงของราคาและหาสาเหตุที่แท้จริงของการขาดแคลนก๊าซLPGจนต้องนำเข้าว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่

สำหรับความพยายามกดดันให้รัฐบาลปรับขึ้นราคาก๊าซLPGของปตท. โดยกระทรวงพลังงานที่ก่อนหน้านี้ร่วมขบวนการผลักดันด้วยนั้น มีเงื่อนงำน่าสงสัยหลายประเด็น เช่น สวนทางกับราคาตลาดโลกที่ลดลงกว่า 60% หลักเกณฑ์การขึ้นราคาไม่ชัดเจน ทั้งราคาต้นทุนก๊าซที่ผลิตในประเทศ การกำหนดอัตราภาษี ค่าการตลาด และเลือกปฏิบัติด้วยการกำหนดอัตราภาษีสำหรับLPGสูงแต่ NGV กลับจัดเก็บต่ำกว่าเพื่อสร้างแรงจูงใจด้านราคาให้คนหันมาใช้NGVที่ปตท.ผูกขาดอยู่เพียงรายเดียว มากขึ้น ซึ่งการเกื้อหนุนจากภาครัฐต่อปตท. เป็นพฤติการณ์ที่ส่อเจตนาเอื้อประโยชน์ให้เอกชน เพราะ ปตท.มิใช่รัฐวิสาหกิจเหมือนแต่ก่อน แต่เป็นนิติบุคคลในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่แสวงหากำไรสูงสุด

ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้ก๊าซฯ เสนอว่า การประเด็นข้อสงสัยต่างๆ เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงควรจัดตั้งองค์กรร่วมที่มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้ามาตรวจสอบและกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานให้เกิดความโปร่งใส ไม่ใช่ให้บริษัทเอกชนร่วมกับข้าราชการกระทรวงพลังงานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมีอำนาจในการผลักดันเชิงนโยบาย โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของสังคมแท้จริง

พร้อมกันนั้น ยังเสนอให้ออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือข้อกำหนดห้ามมิให้ข้าราชการ เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด) หรือที่ปรึกษาในบริษัทด้านพลังงานอย่างเด็ดขาด เพราะอาจถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเอื้อประโยชน์ใก้แก่องค์กรนั้นๆ เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน

ด้านนายสุรศักดิ์ นิติวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจอุปกรณ์ใช้ก๊าซสำหรับยานยนต์ ยืนยันว่า ทั่วโลกมีการส่งเสริมและอุดหนุนด้วยการลดภาษีเพื่อให้ใช้ก๊าซLPGในยานยนต์อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฮ่องกง ฯลฯ ไม่ไช่เป็นการใช้ก๊าซผิดประเภทแต่อย่างใด

นางรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตฯ ตั้งข้อสังเกตว่า หากคนหันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีมากขึ้นปตท.จะยังตรึงราคาที่ 8.50 บาทต่อกก.หรือจะปรับขึ้นไปอีกเท่าไหร่ และยังมีประเด็นข้าราชการ เช่น ปลัดกระทรวงพลังงาน นั่งในตำแหน่งบอร์ด ปตท. และเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาค่าเอฟทีด้วย เป็นบทบาทหน้าที่ที่ขัดแย้งกันโดยพื้นฐาน

ทางด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์และพัฒนาองค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในช่วง 5ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันมีความผันผวนมาก ซึ่งLPG และ NGV มีส่วนสำคัญอย่างมากในการแบ่งเบาภาระของประชาชนในช่วงน้ำมันแพง โดยในปีที่แล้วช่วงที่LPGขาดแคลน หากไม่มีNGVมาช่วยไทยแบ่งเบาในภาคการขนส่ง ไทยจะต้องนำเข้าLPGเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านตัน จากตัวเลขการนำเข้าLPG 4.5 แสนตัน ซึ่งเป็นการนำเข้าในรูปโพรเพนและบิวเทน โดยราคาเฉลี่ยนำเข้าเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 825 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือประมาณ 27 บาท/กิโลกรัม (ไม่รวมภาษีต่างๆและเงินกองทุน) สูงกว่าราคาที่รัฐควบคุมไว้ 330 เหรียญสหรัฐ/ตัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันราคานำเข้าLPG ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 500 กว่าเหรียญสหรัฐ/ตัน สูงขึ้นกว่าเดือนม.ค. 2552 ที่ราคาตันละกว่า 300 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นราคา 13 บาท/กิโลกรัม (กก.) ซึ่งราคานำเข้าช่วงม.ค.นี้ เมื่อเทียบกับราคาหน้าโรงกลั่นที่รัฐควบคุมราคาอยู่ที่ 10.90 บาท/กก. (ยังไม่รวมภาษีสรรพสามิต VAT และกองทุนฯ) ขณะที่ราคาขายปลีกประมาณ 18 บาท/กก. ก็ยังถือว่ายังมีภาระส่วนต่างในการนำเข้าอยู่ เมื่อราคาLPGในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งเป็นภาระให้ภาครัฐในการอุดหนุนมากยิ่งขึ้น

ปริมาณการผลิตLPGในประเทศมาจากโรงแยกก๊าซฯ 60% ที่เหลือมาจากโรงกลั่น 40% โดยต้นทุนLPGจากโรงแยกก๊าซฯในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 200 กว่าเหรียญสหรัฐ/ตัน ต่ำกว่าต้นทุนLPG ที่ได้จากโรงกลั่นสูงถึง 600 กว่าเหรียญสหรัฐ/ตัน โดยยืนยันว่าราคาLPGที่ขายให้โรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นสูงกว่าราคาที่ประชาชนใช้อยู่ โดยโรงงานปิโตรเคมีซื้อLPGในราคาอิงผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี โดยปีที่แล้วซื้อในราคา 496 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือเฉลี่ยกก.ละ 16 บาท

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำเข้าLPGจากเดิมที่เคยเป็นผู้ส่งออกนั้น สืบเนื่องจากในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การใช้ LPG ในภาคยานยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาจาก 2 แสนตันเป็น 7 แสนตันภายใน 5 ปีนี้ โรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้LPG แทนน้ำมันเตา ขณะที่ภาคครัวเรือนเองก็มีการขยายตัวในระดับที่สูงถึง 10% สืบเนื่องจากมีการลักลอบนำถังแก๊สLPGไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว และเขมร ซึ่งราคาLPGที่ประเทศเหล่านั้นจำหน่ายในช่วงนั้นอยู่ที่กก.ละ 40 บาท เท่ากับรัฐต้องอุดหนุนราคาให้ประเทศเพื่อนบ้านด้วย ดังนั้น หากปล่อยให้ความต้องการใช้LPGเติบโตเช่นนี้ ต่อให้สร้างโรงแยกก๊าซฯใหม่เพิ่มขึ้นก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าเพิ่มมากขึ้น

สำหรับในปีนี้ปตท.คาดว่าไทยจะต้องนำเข้าLPGประมาณ 1 ล้านตัน คิดเป็นภาระนำเข้ากว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยปตท.คงไม่สามารถสำรองจ่ายส่วนต่างราคาLPGนำเข้ากับขายในประเทศได้หากครบวงเงินที่บอร์ดฯอนุมัติไว้ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ทางภาครัฐต้องพิจารณาว่าจะนำเงินกองทุนฯน้ำมันมาอุดหนุนแทน โดยยืนยันว่าเงินที่กองทุนฯน้ำมันจะใช้นั้นไม่ได้มาจ่ายให้ปตท.ที่คั่งค้างอยู่แต่อย่างใด

ด้านนายนที ทับมณี ตัวแทนกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการกำหนดให้ราคาLPGทยอยลอยตัวขึ้นประมาณ 10 บาท/กก.ภายใน 1 ปี โดยราคาจะเพิ่มขึ้นไตรมาสแรก 1 บาท/กก. แต่พอสมัยนายสมัครเป็นนายกฯ ได้ยกเว้นการปรับขึ้นราคาLPGในส่วนครัวเรือน เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งในช่วงนั้นราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงไปถึง 140 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ความต้องการใช้LPGเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่เคยโต 10% ปรับเพิ่มเป็น 50% ทำให้การสร้างโรงแยกก๊าซฯที่รองรับการใช้LPGที่โตเพียง 10%สร้างเสร็จไม่ทัน ทำให้เกิดขาดแคลนจนต้องนำเข้ามา

ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ได้ชะลอการปรับขึ้นราคาLPGสำหรับภาคอุตสาหกรรมและขนส่งออกไป ส่งผลให้ปัจจุบันรัฐต้องแบกรับภาระการชดเชยส่วนต่างราคานำเข้ากับราคาขายในประเทศอยู่กก.ละ 2 บาท ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ราคาLPG แพง รัฐต้องอุดหนุนสูงถึง 5-6 บาท/กก.
กำลังโหลดความคิดเห็น