xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ปัดจ่ายดอกเบี้ย8หมื่นล. แนะรัฐออกพ.ร.ก.ล้วงเงินคลังหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารแบงก์ชาติปัดรับภาระดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ 8 หมื่นล้าน แทนกระทรวงการคลัง อ้างต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตร ธปท. 7.6 หมื่นล้าน ส่วนเงินต้นก็ไม่จ่าย เหตุ ธปท.ยังขาดทุนสะสม 7.4 หมื่นล้าน ท้าวเทวทัตกลับชาติมาเกิดแนะรัฐบาลทำบาป บอกให้แก้ พ.ร.ก.ล้วงเงินคลังหลวงหรือบัญชีสำรองพิเศษ แขวะ! แต่อาจยากเพราะต้องมีเรื่องกับหลวงตามหาบัว

จากกรณีที่รัฐบาลมีภาระทางการเงินจากการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) สูงถึง 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ทำให้ขาดโอกาสที่จะนำเงิน 8 หมื่นล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปคุยกกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) เพื่อให้ ธปท.แบ่งเบาภาระดังกล่าว ปรากฏว่า วานนี้ (10 ก.พ.) นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ไม่สามารถที่รับภาระดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนฯ ได้ เนื่องจากในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายการเงิน ธปท.ต้องแบกรับภาระจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตร ธปท. ซึ่งในปี 51 ธปท.มีพันธบัตรธปท.ที่มีอยู่ในระบบประมาณ 1.3-1.4 ล้านบาท ทำให้แต่ละปี ธปท.ต้องจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 76,000 ล้านบาท ซึ่งคิดดอกเบี้ยจ่ายประมาณ 3%

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาผ่อนคลายเรื่องนี้ รวมถึงหาแนวทางว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งหากรัฐบาลต้องการให้ ธปท.รับภาระดอกเบี้ยก้อนนี้ รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไข พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ พ.ศ.2541 และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ ระยะที่ 2 พ.ศ.2545 ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุนสำรองเงินตราของหลวงตามหาบัวด้วย ซึ่งอาจมีปัญหาตามมาได้

“ฝ่ายกิจการธนาคารของธปท.มีภาระหนี้สินสูงในการออกพันธบัตร เพื่อทำหน้าที่ดูแลนโยบายการเงิน ทำให้บางปีขาดทุนบ้าง กำไรบ้าง ถือว่าไม่เยอะนัก จึงมีกำไรส่งให้รัฐบาลไปจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ น้อย ซึ่งไม่เหมือนกับบัญชีทุนสำรองเงินตราที่สินทรัพย์มีแต่เพิ่มขึ้น เพราะไม่ได้นำไปลงทุนหรือแบกรับภาระเหมือนฝ่ายกิจการธนาคาร”

ปัจจุบันพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ มีทั้งสิ้น 3 กอง คือ พันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ กองแรก (FIDF1) จำนวน 500,000 ล้านบาท ซึ่งได้จ่ายเงินต้นไปแล้วประมาณ 36,724 ขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 463,276 ล้านบาท ซึ่งในตามกฎหมายได้ระบุให้ธปท.รับภาระจ่ายเงินต้นจากผลกำไรที่เกิดจากการดำเนินงานของธปท. ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่จ่ายอัตราดอกเบี้ย ซึ่งในแต่ละปีรับภาระดอกเบี้ยประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

ส่วนพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ กองที่ 2 (FIDF2) และพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ กองที่ 3 จะเป็นหน้าที่ของธปท.ในการจ่ายอัตราดอกเบี้ยและเงินต้น ซึ่งใช้เงินจากบัญชีทุนสำรองเงินตราผ่านบัญชีผลประโยชน์ประจำปี โดยขณะนี้ FIDF2 ที่มีจำนวน 112,000 ล้านบาท ธปท.ได้ชำระหมดแล้ว เหลือเพียง FIDF3 ที่มีจำนวนอยู่ 689,651 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 5 ปีทีผ่านมาธปท.ได้ทยอยส่งชำระคืนจากบัญชีผลประโยชน์ประจำปีในส่วนของ FIDF2 และ FIDF3 ทั้งสิ้น 124,758 ล้านบาท

ในปี 51 ทุนสำรองเงินตรามีกำไรทั้งสิ้น 86,900 ล้านบาท แต่นำเข้า และบัญชีสำรองพิเศษ 60,900 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะเป็นของหลวงตามหาบัว และบัญชีผลประโยชน์ประจำปี 26,000 ล้านบาท ซึ่งบัญชีนี้จะนำมาใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยต่อไป

ฟังชัดๆ แม้มีกำไรก็ไม่จ่ายเงินต้น

นางสุชาดากล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ธปท.ไม่สามารถจ่ายเงินต้น FIDF1 ได้ แม้ฝ่ายกิจการธนาคารของ ธปท.ในปี 2551 มีกำไรจากการดำเนินทั้งสิ้น 60,440 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นกำไรที่แท้จริง 30,642 ล้านบาท และกำไรจากการตีราคาอัตราแลกเปลี่ยน ราคาหลักทรัพย์ รวมทั้งภาระผูกพัน 29,798 ล้านบาท แต่ยังมีผลขาดทุนสะสมในปี 50 อีก 105,077 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้แม้จะหักผลกำไรที่แท้จริงที่ได้ในปี 51 แล้วก็ยังมีผลขาดทุนสะสมเหลืออยู่ถึง 74,435 ล้านบาท ทำให้ในงบการเงินปี 2551 ทุนของธปท.ติดลบ 6,922 ล้านบาท จากปี 2550 ที่ทุน 67,362 ล้านบาท ดังนั้น การจ่ายเงินต้น FIDF 1 ได้ต่อเมื่อล้างขาดทุนสะสมให้หมดก่อน

ในงบการเงินปี 2551 ธปท.มีกำไร เนื่องจาก อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งในหลายประเทศปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้หลักทรัพย์ที่ธปท.เข้าไปถืออยู่มีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤตการณ์การเงินโลก ธปท.โชคดีที่ประสบปัญหาขาดทุนไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่ที่กระทบบ้าง คือ การลงทุนในตราสารภาคเอกชนที่เป็นองค์กรสมาชิก แต่เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มนิ่งคนก็หันมาลงทุนในตราสารหนี้เอกชนเหล่านี้ต่อ

นอกจากนี้ การปรับปรุงป้องกันความเสี่ยง อาทิ การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือเงินตราต่างประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากเงินดอลลาร์ ทำให้ธปท.ได้ประโยชน์มากขึ้น และเมื่อเกิดวิกฤตในต่างประเทศมีสถาบันการเงินต่างประเทศหลายแห่งได้ปรับการลงทุนให้สั้นลง หรือคู่ค้าที่ธปท.เคยร่วมลงทุนมาก็หายไป รวมถึงทางเลือกการลงทุนมีจำกัด อาทิ องค์กรระหว่างประเทศมีการจำกัดการฝากเงินด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากมากในการปรับตัวของธปท. ทำให้ต้องมีการศึกษาการลงทุนทั้งเรื่องระบบงาน ตลาด บัญชี และคู่ค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์แบบใหม่ที่เป็นนานาชาติขึ้น

“การลงทุนของธปท.ถือว่าคุ้มทุน เพราะธปท.เองมีการออกพันธบัตรด้วย เพื่อมาดูแลการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งมีการออกพันธบัตร เพื่อดูดซับสภาพคล่องในระบบ และมีรายได้จากอัตราดอกเบี้ยรับที่ธปท.เข้าไปลงทุนทั้งสิ้น 68,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับผลตอบแทนประมาณ 5%”

อย่างไรก็ตาม กำไรที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดผลประโยชน์จากค่าเงิน เนื่องจากค่าเงินค่อนข้างผันผวน โดยในช่วงไตรมาสแรกแข็งค่า ส่วนไตรมาส2-3 อ่อนค่าลง และไตรมาสสุดท้ายอ่อนค่าหนักจากปัญหาความเข้มข้นการเมืองภายในประเทศ ทำให้ทั้งปี 51 ค่าเงินบาทเฉลี่ยแล้วอ่อนค่าลง 3% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินตราต่างประเทศสกุลอื่นก็อ่อนค่าลงกว่าค่าเงินสกุลดอลลาร์ค่อนข้างมาก

สำหรับกรณีที่มีบางฝ่ายเสนอให้ธปท.พิมพ์ธนบัตรเพิ่ม เพื่อช่วยรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งให้เงินหมุนเวียนในระบบจำนวนมากนั้น

ส่วนการจะพิมพ์ธนบัตรเข้าสู่ระบบมากขึ้นหรือไม่นั้น นางสุชาดากล่าวว่า จำเป็นต้องมีดีมานต์รองรับไม่ว่าจะเป็นดีมานต์ที่เกิดจากภาครัฐหรือธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ และหากจะพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ แทนรัฐบาลอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะทุกอย่างแล้วก็ต้องให้ฝ่ายรัฐบาลแก้ไขกฎหมายด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น