กรมธนารักษ์ เตรียมประเมินราคาที่ดินใหม่ นำร่อง 12 เขตใน กทม.หลังพบราคาตลาดพุ่ง 10-40% ชี้ ธนบุรี-คลองสาน ราคาพุ่งสูงสุด เพราะเป็นแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า คอนโดฯ-บ้านจัดสรร ขึ้นพรึบ ราคาตลาดจึงปรับขึ้นจาก ตร.ว.ละ 1 แสน เพิ่มเป็น ตร.ว.ละ 1.5-2.0 แสน พร้อมรับลูก รมว.คลัง ตั้งคณะ กก.ประเมินสิ่งปลูกสร้าง เล็งประเมินราคาที่ดินใหม่ 30 ล้านแปลงทั่วประเทศ ใกล้เคียงราคาตลาด พร้อมประเมินสิ่งปลูกสร้าง หวังนำร่ององค์กรท้องถิ่นประเมินภาษี
นายประสิทธ์ สืบชนะ รองอธิบดีในฐานะโฆษกกรมธนารักษ์ กล่าวว่า หลังจาก นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อขยายฐานภาษี ซึ่งกรมธนารักษ์ต้องเตรียมฐานข้อมูลให้มีความพร้อม จึงได้ตั้งคณะกรรมการประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างในประเภทที่นอกเหนือจากสิ่งปลูกสร้างเดิมที่มีอยู่ 61 แบบในปัจจุบัน
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งปลูกสร้างที่จะประเมินราคาใหม่ อาทิ เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ เป็นสิ่งปลูกสร้างต้องประเมินราคาให้เสียภาษีด้วย และยังมีสิ่งปลูกสร้างประเภทต่างๆ ในลักษณะดังกล่าวนอกเหนือจากทรัพย์สินที่ซื้อขายในตลาด แต่อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบเดิมที่อยู่ด้วยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และหากร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผ่านการเห็นชอบมีผลบังคับใช้ จะมีบทเฉพาะกาลยกเว้นจัดเก็บภาษีจากประชาชนเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งยังมีเวลาในการให้กรมธนารักษ์จัดเตรียมฐานข้อมูลประเมินราคาที่ดินทั้งประเทศให้สอดคล้องกับราคาตลาดมากที่สุดภายในปี 2554 ซึ่งเป็นการประเมินราคาที่ดินให้ครบทั้งประเทศในรอบ 5 ปี จำนวน 30 ล้านแปลง และต้องประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นแม่แบบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปเก็บภาษีในพื้นที่ของตนเอง
นายแคล้ว ทองสม ผู้อำนวยการสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ กล่าวว่า อัตราภาษีที่ดินซี่งจัดเก็บอยู่ในปัจจุบันไม่เป็นภาระต่อประชาชนมากนัก เช่น การคำนวณจากค่าเช่าต่อปีจากมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อยละ 12.5 ภาษีจากอาคารพาณิชย์ร้อยละ 0.5 ภาษีจากที่อยู่อาศัยร้อยละ 0.1 ภาษีจากพื้นที่การเกษตรร้อยละ 0.05 หากมีการเก็บจัดเก็บภาษีได้จริงคงไม่ให้กระทบต่อประชาชนรายย่อยมากเกินไป เพราะจะมีการกำหนดเพดานให้เสียภาษีในจำนวนน้อย เช่น หากราคาทรัพย์ไม่ถึง 100,000 บาท จะเสียภาษีประมาณ 10-20 บาทต่อปี หรือบางรายไม่เกิน 100 บาท รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายฐานภาษีประมาณ 60,000 ล้านบาท
โฆษกกรมธนารักษ์ กล่าวด้วยว่า จากแผนการประเมินราคาที่ดินให้สอดคล้องกับราคาตลาดมากที่สุด ในปี 2552 จึงมีที่ดินที่ต้องประเมินราคาใหม่ 4.27 ล้านแปลง ปี 2553 จำนวน 5.9 ล้านแปลง ปี 2554 จำนวน 15 ล้านแปลง ซึ่งในปี 2552 ได้เลือกพื้นที่ต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ 12 เขต เนื่องจากราคาตลาดปรับสูงขึ้นร้อยละ 10-40 ประกอบด้วย เขตบางกอกน้อย บางพลัด ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ธนบุรี คลองสาน บางกอกใหญ่ ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ ลาดกระบัง บางกะปิ และวังทองหลาง โดยราคาที่ดินที่ปรับสูงมากเช่น ธนบุรี และคลองสาน ซึ่งเป็นแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า ทำให้คอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรรเข้าไปก่อสร้างมากขึ้น ราคาตลาดจึงปรับขึ้นจาก 100,000 บาทต่อตารางวา เพิ่มเป็น 150,000-200,000 บาทต่อตารางวา
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ยังต้องประเมินราคาที่ดินในต่างจังหวัด 14 จังหวัด จำนวน 16 อำเภอ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงราย นครปฐม นครราชสีมา นนทบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี ภูเก็ต ลำปาง สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี และอ่างทอง โดยเฉพาะนนทบุรี ในย่านถนนรัตนาธิเบศร์ มีแผนรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ทำให้ราคาซื้อขายที่ดินในตลาดปรับสูงขึ้นมาก จาก 60,000 บาท เป็น 100,000 บาทต่อตารางวา ทำให้ราคาประเมินของกรมธนารักษ์ต้องสอดคล้องกับตลาดด้วย