นักวิชาการพบ “รมว.คลัง” แนะแผน ศก.ยก 2 เน้นดูแลแรงงาน-คนจน ฟื้นความเชื่อมั่น "ธปท.หนุนแบงก์พาณิชย์ถ่างสเปรดดอกเบี้ย พร้อมค้านไอเดียคลังอัดฉีดกำลังซื้อ ข๊ะที่ส่วนใหญ่พอใจกับมาตรการชุดนี้
นักวิชาการเสนอความเห็นต่อ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านเวทีศุกร์เศรษฐกิจ กับรัฐมนตรีกรณ์ ในหัวข้อ “ถกแผนเศรษฐกิจยกหนึ่ง คิดไปถึงแผนสอง” โดยนักวิชาการส่วนใหญ่สนับสนุนแนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พร้อมเสนอแนะในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนจน แก้ปัญหาแรงงาน เร่งสร้างความเชื่อมั่น และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ติงบางนโยบายยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ทั้งนี้ นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นทั้งในการสร้างความเชื่อมั่น และการสร้างเสถียภาพเศรษฐกิจ โดยจะต้องไม่สร้างภาระการคลัง จนกลายเป็นหนี้สาธารณะให้สูงขึ้น
หากมองภาพเศรษฐกิจปี 2552 แบบเลวร้ายสุด เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเป็น 0% ขณะที่รัฐบาลขาดดุลงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 5.5% ต่อจีดีพี และหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 42% ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2553 เชื่อว่า รัฐบาลอาจทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง แต่คงไม่มากเท่าปี 2552
นางอัจนา กล่าวว่า ในแผน 2 ของการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลควรจะเน้นให้เกิดการสร้างงานมากขึ้น จัดโครงการฝึกอบรมแรงงาน ส่วนสภาพคล่อง เห็นว่า ควรจะเลิกการพูดถึงส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก (สเปรด) แต่ควรให้ความสำคัญเรื่องการมีต้นทุนการเงินที่ต่ำ เพราะขณะนี้ความเสี่ยงในการให้สินเชื่อมีสูงขึ้น
รัฐบาลควรที่จะวางแนวทางเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ โดยมีต้นทุนความเสี่ยงต่ำ โดยในต่างประเทศจะใช้ระบบการค้ำประกันสินเชื่อ ดังนั้น ในส่วนของไทย สามารถดำเนินการได้ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามารับความเสี่ยง 80 ต่อ 20 กับ ธนาคารพาณิชย์ มีการแยกบัญชีการทำธุรกิจตามนโยบายรัฐ
รองผู้ว่าการ ธปท.มองว่า หากมีการค้ำประกันสินเชื่อได้ 1 แสนล้านบาท จะทำให้มีการปล่อยสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้นถึง 3 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ควรลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ จาก 1.75% เหลือ 1% โดยรัฐบาลสูญเสียรายได้แค่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งแนวทางดังกล่าวป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา Credit Crunch
นอกจากนี้ ในระยะยาว รัฐบาลควรคิดถึงการหารายได้ทั้งในส่วนของประชาชนและภาครัฐ ซึ่งวิธีการปูพรมที่ดี คือ การสร้างแหล่งน้ำให้เกษตรกรเพื่อสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจระยะยาวในการหารายได้เกษตรกร ซึ่งจะทำให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในใจของประชาชน นอกจากนี้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องถกเถียงมานาน หากรัฐบาลผลักดันให้เกิดขึ้น เชื่อว่า รัฐบาลจะอยู่ในใจของนักวิชาการได้เช่นกัน
“สิ่งที่ไม่ชอบ คือ นโยบายแจกเงิน 2 พันบาท เพราะใช้เงินกว่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งก็เห็นผลได้แค่ 1-2 เดือน ส่วนการแจกข้าว ยิ่งไม่สนับสนุน เพราะหากทำเพื่อลดสต๊อกข้าวเก่า แต่ก็มีสร้างสต๊อกข้าวใหม่ขึ้นมาได้” นางอัจนา กล่าว
ด้าน นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลดำเนินการ ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการในหลายเรื่อง แต่ต้องการให้รัฐบาลพุ่งเป้าหมายการให้ความช่วยเหลือประชาชนคนจนในเมือง ซึ่งมีผลต่อการสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า
นอกจากนี้ คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งสนับสนุนแนวคิดการจัดต้องกองทุนแรงงานนอกระบบ แต่ปัญหาสำคัญของไทยของการขาดฐานข้อมูลคนจน ทำให้การแก้ปัญหาคนจนยังไม่ตรงจุด
ท้ายที่สุดแล้ว เห็นว่า รัฐบาลไม่ควรให้ความสำคัญกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ มากเกินไป เพราะไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
ด้าน นางผาสุก พงษ์ไพจิตร อ.ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลก คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีก 3-5 ปี ดังนั้น ซึ่งคาดว่าไทยก็คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวในระยะเวลาเดียวกัน การแก้ปัญหาคงไม่สามารถใช้แนวทางเดิมๆ ได้ ดังนั้น จึงต้องการเสนอแนะรัฐบาลให้ความสำคัญกับกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
รัฐบาลควรจัดทำแผนอุดหนุนสินค้าเกษตรในทุกประเภท จัดทำเป็นแผนต่อเนื่องในระยะ 3-5 ปี ซึ่งถือเป็นนโยบายของการแก้ปัญหารายได้ตกต่ำในภาคเกษตรที่เหมาะสม โดยอาจเป็นความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกลุ่มสหกรณ์ ซึ่งเข้าถึงภาคเกษตรได้มากกว่า
พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญประสานงาน กับ อปท.กลุ่มสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อมีข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือมากขึ้น รวมทั้งตั้งวอร์รูมติดตามข้อมูลโครงการรับจำนำพืชผลเกษตร ป้องกันการรั่วไหล ทุจริต และระยะยาว ควรมีระบบการประกันการทำงานในภาคชนบท
อย่างไรก็ตาม เห็นว่า รัฐบาลไม่ควรกังวลกับเพดานการก่อหนี้ภาครัฐมากจนเกินไป ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า แผน 2 ของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเน้นทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และต้องปกป้องกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการปกป้องด้วย ซึ่งควรพิจารณาว่า กลุ่มใด จะมีส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า
นอกจากนี้ รัฐบาลควรมองระยะยาว หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ สร้างความสามารถการแข่งขัน โดยต้องมีมาตรการเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อรองรับการจ้างงานในอนาคต มีการวางโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ หลังจากไทยไม่มีการลงทุนในด้านนี้มากว่า 10 ปีแล้ว ทำให้ปัจจุบันระบบลอจิสติกส์ของไทย มีต้นทุนที่สูง รัฐบาลควรอัดฉีดเม็ดเงินส่วนนี้ เพื่อผลต่อเศรษฐกิจในอนาคต การแก้ไขกฎระเบียบภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนและนักลงทุน และการกระตุ้นภาคเกษตร เช่น การมีระบบการประกันภัยพืชผล และ คาร์บอน เครดิต
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรประเมินปัญหาเศรษฐกิจต่ำเกินไป เพราะมองว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกจะมีผลต่อสถาบันการเงินเร็วขึ้นในช่วงกลางปีนี้ โดยเฉพาะตราสาร CDO ที่จะครบกำหนดชำระหนี้ เป็นเม็ดเงินกว่า 66 ล้านล้านดอลลาร์ ดังนั้น รัฐบาลต้องเตรียมหาแนวทางรับมือ ทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และภาคการลงุทน ที่คาดว่าจะมีคนตกงานจำนวนมาก
ส่วนการเงินระหว่างประเทศ คาดว่า จะมีความผันผวนมาก รัฐบาลต้องเตรียมรับมือ ซึ่งกระทรวงการคลัง และ ธปท.ต้องวางแผนรับมือ
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเศรษฐกิจสิ่งสำคัญ คือ การสร้างความเชื่อมั่น ไม่ใช่การวางเป้าหมายทางการเมืองเป็นเป้าหมายหลัก แต่ควรคำนึงถึงเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาเพื่อชาติ