ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้รัฐกระตุ้นอสังหาฯ อาจไม่ได้ผลนัก เหตุมรสุม ศก.รุนแรง ชี้การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในขณะนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางภาษี หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต่างจากอดีต คือ แนวโน้มที่เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก และกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ทั้งการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชนผ่านการลดค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยและการสนับสนุนโครงการสินเชื่อต่างๆ ส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 52 เพราะจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคที่มีความพร้อมด้านการเงิน และเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องซื้อที่อยู่อาศัยหรือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ตัดสินใจเร็วขึ้น แต่ความต้องการที่อยู่อาศัยในปี 52 อาจยังคงไม่ปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็วนัก
"การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในขณะนี้อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางภาษีหรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต่างจากอดีต คือ แนวโน้มที่เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก และกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งภาวะดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย รวมถึงภาคการท่องเที่ยว และเริ่มมีผลมาสู่การจ้างงานในภาคธุรกิจเหล่านั้น และโรงงานบางแห่งได้ปิดกิจการลง ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มมีความกังวลต่อความมั่นคงในหน้าที่การงาน และระดับรายได้ของตนในอนาคต"
ส่วนกลุ่มที่รายได้ค่อนข้างมีความอ่อนไหวง่ายต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจต่อทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตอาจจะยังคงไม่รีบเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยและรอช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้
"มาตรการภาครัฐอาจช่วยกระตุ้นกลุ่มลูกค้าที่กำลังต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย หรือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ให้ตัดสินใจเร็วขึ้น เนื่องจากผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้จะได้รับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปี 52 และยังได้รับประโยชน์จากการขยายระยะเวลามาตรการการลดค่าธรรมเนียมและค่าจดจำนอง เดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 52 ให้ขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 53" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สำหรับมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติออกมา ประกอบด้วย มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปี 52 โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ที่จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งหากโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในปี 52 จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินเป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3 แสนบาท เพิ่มเติมจากที่ให้หักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้านเป็นจำนวนไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่อ่อนแอลง ส่วนผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้น่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและพร้อมขายอยู่ในปัจจุบัน หรือในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะระบายสินค้าที่มีอยู่ได้ระดับหนึ่ง ควบคู่ไปกับการดำเนินกลยุทธ์การตลาดที่คาดว่าน่าจะแข่งขันกันอย่างรุนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์
นอกจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์แล้ว นโยบายการเงินก็มีส่วนกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์เช่นกันจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 ต่อปี จากเดิมร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงมา ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการเพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตามแม้มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่ลดลง ทำให้รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของมาตรการ โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ซื้อบ้านใหม่ เพื่อให้เกิดการระบายสต็อกคงค้างในระบบ และมีการก่อสร้างใหม่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลดีกับธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์กลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวก็อาจจะมีจุดขายในการทำตลาดที่ด้อยกว่าในช่วงปีนี้
"ความต้องการที่อยู่อาศัยน่าจะมีแรงซื้อมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยพื้นฐานเพื่อการที่อยู่อาศัยจริง ที่เป็นตลาดกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มีความจำเป็นในการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะให้ผู้บริโภคมีการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยพิจารณาถึงความสามารถในการผ่อนชำระของตนในอนาคตเป็นหลัก อีกทั้งภาวะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการแข่งขันสูงและมีสินค้าออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคมีข้อเปรียบเทียบในแต่ละสินค้ามากขึ้น รวมถึงสามารถที่จะเลือกซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่ถูกลง ผู้บริโภคยังคงมีเวลาในการเลือกที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องเร่งตัดสินใจ