xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไอพีโอปี 52 ยังซบเซา-ลุ้นการเมืองนิ่งดันเข้าเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหลักทรัพย์ฯ หวังหุ้นไอพีโอปี 52 คึกคัก เหตุสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายและรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ตั้งเป้าไว้สูงกว่า 46 บริษัท หลังปี 51 บริษัทเอกชนระดมทุนต่ำแค่ 11 ราย มูลค่าระดมทุนแค่ 1.8 หมื่นล้าน หลุดเป้าที่ตั้งไว้ 37 บริษัท ด้านบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน กลับมองต่างมุม หุ้นไอพีโอไม่กระเตื้องจากปีก่อนมากนัก เพราะจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกหดตัว

ตลอดระยะเวลาในปี 2551 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่เกิดจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) และลุกลามสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ถึงขั้นทำให้สถาการบันการเงินหลายแห่งต้องประสบปัญหาถึงขั้นต้องล้มละลาย หรือขอรับความช่วยเหลือจากทางการของประเทศตนเอง

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินตรึงตัวทั่วโลก และต่อเนื่องถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังชะลอตัวอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างเทขายเงินลงทุนที่กระจายอยู่ทั่วโลก เพื่อนำเงินกลับประเทศไว้เสริมสภาพคล่องที่กำลังตรึงตัว ซึ่งล้วนแต่เป็นแรงกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก

ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ จากรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาคัดค้านรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน หรือรัฐบาลนอมินีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

บรรยากาศการลงทุนที่ซบเซาในตลาดหุ้นไทย ได้ส่งผลต่อบริษัทเอกชนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องชะลอแผนออกไปก่อน เพราะกังวลว่า การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนอาจจะส่งผลต่อราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชน (ไอพีโอ) เป็นครั้งแรกและแผนการระดมทุนอาจจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงนักลงทุนอาจจะไม่สนใจเข้ามาลงทุน เนื่องจากราคาหุ้นหลังเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว อาจจะปรับตัวลดต่ำกว่าราคาที่เสนอขายไอพีโอ เป็นต้น

***บริษัทจดทะเบียนใหม่พลาดเป้าปี51

ASTV ผู้จัดการ ได้สำรวจข้อมูลบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 11 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 8 แห่ง และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ 3 แห่ง ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งไว้ที่ 37 บริษัท โดยมีมูลค่าการระดมทุนรวม 18,764.30 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าตลาดราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) รวมทั้งสิ้น 70,490.53 ล้านบาท (ตารางประกอบหน้า 18)

หากพิจารณาเป็นรายบริษัท พบว่า บริษัทที่มีมูลค่าการระดมทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO ราคาเสนอขายหุ้นละ 10 บาท มูลค่าระดมทุน 9,304 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 33,833.33 ล้านบาท บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) ราคาเสนอขาย 4.20 บาท มูลค่าระดมทุน 4,200 ล้านบาท มาร์เกตแคป 16,758 ล้านบาท และบมจ. สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) ราคาเสนอขาย 8 บาท มูลค่าระดมทุน 2,240 ล้านบาท มาร์เกตแคป 7,600 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอ ทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย บมจ.บิวเดอสมาร์ท (BSM) เสนอขายหุ้นละ 1.10 บาท มูลค่าระดมทุน 55 ล้านบาท มาร์เกตแคป 165 ล้านบาท บมจ.ชูไก (CRANE) ราคาเสนอขาย2.80 บาท มูลค่าระดมทุน 280 ล้านบาท มาร์เกตแคป 1,260 ล้านบาท และบมจ.ไอเมท (สยาม) (DIMET) ราคาเสนอขาย 1 บาท มูลค่าระดมทุน 40 ล้านบาท และมาร์เกตแคป 180 ล้านบาท

นายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการสายงานการตลาดศูนย์ระดมทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมของแนวโน้มบริษัทที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในปีหน้าคาดว่าจะมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้นกว่าปี 2551 ที่มีเพียง 11 บริษัท เนื่องจากนักลงทุนกลับมามีความมั่นใจอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีความชัดเจนขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่จะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนและดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2552 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งเป้าหมายบริษัทจดทะเบียนใหม่จำนวนทั้งสิ้น 46 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศ 1 บริษัท แบ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 22 แห่ง ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) 24 บริษัท ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) เพิ่มอีกประมาณ 2.5 แสนล้านบาท

โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วจำนวน 27 บริษัท และได้รับการอนุมัติจากก.ล.ต.ให้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้แล้วจำนวน10 บริษัท

“ผมเชื่อว่าหุ้นไอพีโอปีหน้าจะคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา จากการเมืองในประเทศที่เป็นรูปเป็นร่างมีการเปลี่ยนแปลงขั้วการเมืองใหม่ มีคณะทำงานที่ชัดเจนขึ้น”

สำหรับสาเหตุที่ทำให้จำนวนหุ้นไอพีโอที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 51 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 37 บริษัท นั้น นายวิเชฐ กล่าวว่า เกิดจากวิกฤตสถาบันการเงินต่างประเทศที่ลุกลนจนส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว บวกกับปัจจัยการเมืองในประเทศที่มีความรุนแรงจนส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุน และกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยยังคงชัดเจนและมั่นคงแบบนี้ตลอดไป คือ มีการตั้งคณะทำงานที่มีความตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาภายในประเทศทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว จะทำให้ภาคธุรกิจการลงทุนสามารถคาดการณ์แนวโน้มตลาดทุนไทยในปีหน้าได้ตามเป้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 46 บริษัท

***หุ้นไอพีโอปี 52 ไม่คึกคักมากนัก***

นายเล็ก สิขรวิทย รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP กล่าวว่า แนวโน้มของตลาดไอพีโอปี 52 คงไม่คักคักหรือปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมามากนัก เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้รับความบอบซ้ำเป็นจำนวนมาก ดังนั้นอาจจะทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู ซึ่งทำให้ต้องรอดูทิศทางภาวะเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ แม้สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ชัดเจนขึ้น แต่ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังกดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยทำให้ดัชนีปรับตัวลดลง และหากดัชนีสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน จึงจะเห็นภาพทิศทางตลาดหุ้นที่ชัดเจน

“ปัญหาเศรษฐกิจโลกหดตัวนั้น คงไม่สามารถตอบได้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหามากกว่าปัจจัยภายในประเทศ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ธุรกิจการดำเนินงานของกิจการต่างๆ ต้องปิดกิจการลง และทำให้ยอดคนตกงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก”

***ASP มีหุ้นไอพีโอในมือแล้ว 6 ราย***

นายเล็ก กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัทได้รับเป็นที่ปรึกษานำบริษัทเช้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเสนอขายหุ้นไอพีโอ รวมทั้งสิ้น 6 บริษัท แบ่งเป็น จดทะเบียนในตลาดหหลักทรัพย์ฯ 2 บริษัท และตลาดเอ็มเอไอ 4 บริษัท โดยขณะนี้ได้ยื่นไฟลิ่งกับสำนักงาน ก.ล.ต. ไปแล้วจำนวน 2 บริษัท และได้รับการอนุมัติจากก.ล.ต. ให้สามารถเสนอขายหุ้นได้แล้วจำนวน 1 บริษัท คือ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน)

“บริษัทมีหุ้นไอพีโอ จำนวน 6 ตัว ที่ขณะนี้ได้ทำการยื่นไฟลิ่งกับก.ล.ต.ไปบ้างแล้ว ส่วนบริษัทที่เหลือยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะยื่นเมื่อไหร่ ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริษัทในการเตรียมตัวที่จะเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งยังไม่สามารถที่จะระบุได้แน่ชัด รวมถึงการประเมินมูลค่าการระดมทุนเองก็ยังไม่ชัดเจน” นายเล็ก กล่าว

***แคปปิตอลฯฟุ้งหุ้นไอพีโอมูลค่าหมื่นล.

นายธิบดี มังคะลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล พลัส แอดไวซอรี่ จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไอพีโอ ในปี 2552 คงจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมามากนัก เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และปัญหาความขัดแย้งในประเทศ เป็นตัวบั่นทอนความมั่นใจของคนในประเทศ ทั้งในส่วนของบุคคล ที่มีการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมากขึ้น และองค์กร ที่มีการลดต้นทุนการผลิต ลดคนงาน หรือปรับลดเงินเดือน

ทั้งนี้ เมื่อรูปแบบการเมืองในประเทศมีความชัดเจนขึ้นด้วยการมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลที่จะเข้ามาทำงานอย่างชัดเจน ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อประเทศไทย แต่จะต้องรอดูนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลชุดนี้ก่อนว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนได้มากน้อยเพียงใด

สำหรับการที่รัฐบาลมีนโยบายอัดฉีดเม็ดเงินช่วยภาคเศรษฐกิจนั้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของบริษัทและนักลงทุนกลับมาอีกครั้งโดยเห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ดีดตัวตอบรับสูงขึ้นจากเดิม

ส่วนบริษัทในปีหน้ามีจำนวนหุ้นไอพีโอที่จะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 3 บริษัท โดยแบ่งเป็นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2 บริษัท และตลาดเอ็ม เอไอ 1 บริษัท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นไฟลิ่งให้สำนักงาน ก.ล.ต.พิจารณา มีมูลค่าระดมทุนประมาณ 2 พันล้านบาท ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการประมูลงาน ธุรกิจการจัดเลี้ยง และธุรกิจนำเข้ารถกอล์ฟ คือ บริษัท IMCC By Club Car (International) จำกัด หรือ IMCC

“ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนหุ้น IPO ที่รอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต่ำกว่า10 บริษัท มีมูลค่าระดมทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นบริษัทที่มีตัวแปรเชิงคุณภาพทั้งสิ้น ทำให้เราเชื่อมั่นว่าจะมีนักลงทุนหันมาให้ความสนใจและร่วมลงทุน ซึ่งบริษัทอาศัยการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการใช้จุดเด่นของแต่ละบริษัทในการเป็นตัวแปรเชิงคุณภาพแสดงภาพลักษณ์ที่ดีออกมา” นายธิบดี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น