xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ คาด กนง.หั่นดอกเบี้ยอีก 1% ลดส่วนต่าง-สกัดบาทแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด แรงกดดันตลาดเงินโลก กระทบไทยช่วงต้นปี 52 กนง.อาจต้องลดดอกเบี้ยลงอีก 1% เพื่อสกัดการเก็งกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และการแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงผลกระทบต่อภาคการส่งออก ขณะที่เงินเฟ้อในประเทศก็ขยับใกล้ 0%

วันนี้ (17 ธันวาคม 2551) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่าการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ของธนาคารสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินอีกครั้ง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงมากเกินคาดถึงร้อยละ 0.75-1.00 ลงสู่กรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ร้อยละ 0.00-0.25 ซึ่งกำหนดขึ้นใหม่ในการประชุมรอบนี้ จากระดับร้อยละ 1.00

โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐแตะระดับร้อยละ 0.00 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการใช้อัตราดอกเบี้ย Fed Funds เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และนับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds เป็นครั้งที่ 10 ในวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในรอบประมาณ 15 เดือนที่ผ่านมา

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองว่า แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ร้อยละ 1.00 ลงสู่ร้อยละ 2.75 ในการประชุมวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา แต่เชื่อว่า กนง.ยังคงมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อสร้างสภาวะที่ผ่อนคลายทางการเงินในยามที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับหลากหลายปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า ทั้งจากประเด็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งได้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของภาคธุรกิจชะลอตัวลง

ขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเปราะบาง และความเป็นไปได้ของการขยับแข็งค่าขึ้นของเงินบาท เพื่อตอบรับกับความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ ก็อาจกลายมาเป็นโจทก์หนักของภาคการส่งออกของไทย และอาจมีน้ำหนักทางอ้อมต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ในระยะถัดไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดอีกว่า กนง.มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 1.00 โดยช่วงเวลาของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เป็นหลัก เนื่องจากเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อ มีแนวโน้มจะขยับลงมาใกล้ร้อยละ 0.00 และอาจมีค่าติดลบในบางเดือนของไตรมาส 2 ปี 2552

ขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงอย่างมากตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2551 อาจมีอัตราการเติบโตที่ติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 1.00 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดยเสถียรภาพทางการเมืองก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่มีความสำคัญ นอกเหนือไปจากปัจจัยภายนอกประเทศ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งรอที่จะทดสอบเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น