ผ่านทางตัน “แอลพีจี” ปตท.รอรัฐบาลใหม่ชี้ชะตา โดนหนี้นำเข้าก๊าซ 8 พันล. มัดคอ “ปิยสวัสดิ์” เสนอให้ใช้ราคาลอยตัว หลังผู้ค้าในประเทศติดปลัก “ประชานิยม” รัฐบาลเก่าออก 6 มาตรการ 6 เดือน หว่านรากหญ้า ตรึงราคาในประเทศที่ 320 ดอลลาร์/ตัน ขณะที่ตลาดโลกพุ่งถึง 330 ดอลลาร์/ตัน
วันนี้ (17 ธ.ค.) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอรัฐบาลใหม่ลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม และอย่าใช้นโยบายตรึงราคาพลังงานเพราะจะเป็นภาระต่อประชาชนในภายหลัง และต้องประกาศส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยประกาศต่ออายุส่วนเพิ่มทันที
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า หวังว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ จะไม่ทำนโยบายเหมือนกับช่วงหาเสียง ที่พยายามตรึงราคาพลังงาน ลดราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เพราะการดำเนินการดังกล่าวจะสร้างภาระแก่ประชาชนในภายหลัง ซึ่งจะเห็นได้ทั้งจากการตรึงราคาน้ำมัน การตรึงค่าไฟฟ้า การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ดังนั้น ราคาพลังงานต้องสะท้อนต้นทุนที่จริง ประกอบกับในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่ราคาน้ำมันและแอลพีจีตลาดโลกปรับลดลงมาก ราคาตะวันออกกลางอยู่ที่ 338 ดอลลาร์ต่อตัน ใกล้เคียงกับราคาในประเทศที่ 320 ดอลลาร์ต่อตัน ในส่วนของแอลพีจีจึงควรจะปล่อยลอยตัวทันที และในอนาคตก็ให้ราคาปรับขึ้น-ลง ตามตลาดโลก
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า หากลอยตัวราคาแอลพีจีช่วงนี้ ราคาขายปลีกก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งเป็น 2 ราคา ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ให้ปรับราคาขึ้นเฉพาะภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ในอัตรากิโลกรัมละ 6 บาท ปัญหาเรื่องการลักลอบถ่ายเท การลักลอบส่งออกก็จะไม่เกิดขึ้น และไม่สร้างภาระต่อภาคอุตสาหกรรม
สำหรับในส่วนของการจ่ายเงินชดเชย 8,000 ล้านบาท ให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่รัฐบาลชุดก่อนหาเสียงประชานิยม 6 มาตรการ 6 เดือน นายปิยสวัสดิ์ แนะนำให้รัฐบาลใหม่นำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาแก้ปัญหา เพราะในขณะนี้มีการจัดเก็บเงินกองทุนฯ ในอัตราสูงขึ้น และยังมีภาระเป็นบวก
ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรประกาศยกเลิกการลดภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ ทันที ไม่ต้องรอให้ครบกำหนดเวลา 6 มาตรการลดค่าครองชีพ ในวันที่ 31 มกราคม 2552 โดยการจัดเก็บภาษีในอัตราเดิม ซึ่งการที่ราคาน้ำมันตลาดโลกดิ่งลง นอกจากจะไม่มีผลทำให้ราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้นแล้ว แต่ยังเป็นการดึงให้ค่าการตลาดลดต่ำลง สร้างความเป็นธรรมต่อประชาชน เพราะในขณะนี้ค่าการตลาดอยู่ในระดับสูงมากมาเป็นเวลานานแล้ว และยังช่วยเรื่องการจัดเก็บภาษีของภาครัฐให้สูงขึ้น เพื่อนำเงินไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น รวมทั้ง แก้ปัญหาไม่ให้เกิดการใช้น้ำมันฟุ่มเฟือย
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลใหม่ควรเดินหน้าต่อไปเรื่องพลังงานทดแทน โดยมาตรการส่งเสริมควรต้องชัดเจน เพราะในช่วงราคาน้ำมันแพง ความสนใจเรื่องการลงทุนพลังงานทดแทนอาจไม่คุมทุน ดังนั้น อาจจำเป็นต้องทำมากกว่าช่วงน้ำมันแพง โดยเฉพาะการให้ส่วนเพิ่ม (adder) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งจะหมดกำหนดเวลาให้ส่วนเพิ่มภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 หากไม่มีการให้ส่วนเพิ่มก็อาจจะทำให้โครงการพลังงานทดแทนต้องหยุดชะงักไป และอาจจะส่งผลกระทบในอนาคตหากราคาน้ำมันจะปรับขึ้นมาอีก
ทั้งนี้ อัตราการให้ส่วนเพิ่มปัจจุบันได้ให้โดยเงินกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยให้โรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพ 30 สตางค์ต่อหน่วย พลังน้ำขนาดเล็ก 50-200 กิโลวัตต์อัตรา 40 สตางค์ต่อหน่วย พลังน้ำขนาดเล็กกว่า 50 กิโลวัตต์ อัตรา 80 สตางค์ต่อหน่วย ขยะ 2.50 บาทต่อหน่วย พลังงานลม 3.50 บาทต่อหน่วย (10 ปี) แสงอาทิตย์ 8 บาทต่อหน่วย